ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

ข่าวประกันภัยทั่วไป

สิ่งดีๆ ต่อ (หัว) ใจ

การดูแล หัวใจ ให้แข็งแรงไม่ใช่เรื่องยาก มีหลายปัจจัยเสี่ยงสามารถป้องกันได้ ลดโอกาสการเกิดโรค หัวใจ

สิ่งดีๆ ต่อ (หัว) ใจ

มิถุนายน

18

หัวใจ เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายตลอดเวลา ไม่มีการหยุดพัก เรามักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพหัวใจเท่าไหร่นัก จนกว่าจะมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว การดูแล หัวใจ ให้แข็งแรงไม่ใช่เรื่องยากเกินไป มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ ขอเพียงตั้งใจก็สามารถลดโอกาสการเกิดโรค หัวใจ ได้แล้ว

ปัจจัยเสี่ยง: ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด โรคหลอดเลือดหัวใจ ยิ่งความดันโลหิตสูงมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ความดันโลหิตที่วัดได้จะมี 2 ตัว ได้แก่ ความดันโลหิตซิสโตลิค (systolic blood pressure) หรือค่าความดันโลหิตตัวบน เป็นค่าความดันในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบตัว อีกตัวหนึ่งคือ ค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิก (diastolic blood pressure) หรือค่าความดันโลหิตตัวล่าง เป็นค่าความดันในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจคลายตัว โดยค่าความดันโลหิตที่ปลอดภัย ควรจะต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท

ผู้ที่มี ความดันโลหิตสูง ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารแบบ DASH ซึ่งเน้นผักผลไม้ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่ ในกรณีที่ความดันโลหิตสูงมาก อาจต้องรับประทานยาร่วมด้วย

ปัจจัยเสี่ยง: การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่ ไม่ได้มีผลเสียเฉพาะแต่กับปอดเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคร้ายแรงหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่ง 1 ใน 3 ของผู้ที่เสียชีวิตจาก โรคหลอดเลือดหัวใจ มีสาเหตุมาจาก การสูบบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นพฤติกรรมที่ดีต่อใจอย่างแท้จริง เพราะ การสูบบุหรี่ ทำให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดลดลง หลอดเลือดหัวใจหดตัว เป็นการลดปริมาณเลือดที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอีกด้วย

ข้อดีของการเลิกสูบบุหรี่
- 20 นาที อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตลดลง
- 12 ชั่วโมง ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือดลดลงเป็นปกติ
- 2 - 12 สัปดาห์ ระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น สมรรถภาพปอดดีขึ้น
- 1 - 9 เดือน อาการไอและหายใจถี่ๆ หรือหายใจไม่เต็มปอดลดลง
- 1 ปี ความเสี่ยง โรคหลอดเลือดหัวใจ ลดลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับผู้ที่สูบบุหรี่
- 5 ปี ความเสี่ยง โรคหลอดเลือดสมอง ลดลง เหลือเท่ากับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ หลังจากเลิกบุหรีได้ 5 - 15 ปี
- 10 ปี ความเสี่ยง โรคมะเร็งปอด ลดลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับผู้ที่สูบบุหรี่
- 15 ปี ความเสี่ยง โรคหลอดเลือดหัวใจ ลดลงเหลือเท่ากับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

ปัจจัยเสี่ยง: ไขมันในเลือดผิดปกติ

คอเลสเตอรอล เป็นไขมันที่พบได้ในอาหาร และยังถูกสร้างจากตับได้ด้วย คอเลสเตอรอล ในเลือดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL cholesterol) ช่วยนำไขมันออกไปจากกระแสเลือด และ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL cholesterol) ซึ่งก่อให้เกิดการสะสมไขมันในผนังหลอดเลือด ถ้าหากมีไขมันชนิดไม่ดีอยู่มาก ก็จะเพิ่มโอกาสการเกิด โรคหลอดเลือดหัวใจ ได้ง่าย ซึ่งเราสามารถออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มปริมาณไขมันดี ร่วมกับการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย

ปัจจัยเสี่ยง: เบาหวาน

- 68% ของผู้ป่วย โรคเบาหวาน ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ และ 16% เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง
- ผู้ที่เป็น โรคเบาหวาน มีโอกาสเสียชีวิตจาก โรคหัวใจ ได้มากกว่าผู้ที่ไม่เป็น 2-4 เท่า

แม้ว่าโรคนี้จะรักษาไม่หาย แต่ก็สามารถดูแลให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายให้น้อยที่สุดได้ ด้วยการ ควบคุมระดับน้ำตาล ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยหลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด ลดการบริโภคอาหารจำพวกแป้ง ให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ลด อาหารไขมันสูง พยายามรับประทานอาหารให้เป็นเวลา ลดน้ำหนักส่วนเกิน หมั่นออกกำลังกาย หากการควบคุมอาหารไม่เพียงพอ แพทย์อาจสั่งจ่ายยา หรืออินซูลินให้ด้วย ซึ่งผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ปัจจัยเสี่ยง: พฤติกรรมแน่นึ่ง ไม่ออกกำลังกาย

ผู้ที่กระฉับกระเฉง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีโอกาสเกิด โรคหลอดเลือดหัวใจ น้อยกว่า ผู้ที่ละเลยการออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่ม คอเลสเตอรอล ชนิดดี ลด คอเลสเตอรอล ชนิดร้าย ลด ความดันโลหิต ชะลอความรุนแรงของ โรคเบาหวาน และช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิด โรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งสิ้น แนะนำให้ออกกำลังกาย ความหนักระดับปานกลาง อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เช่น ว่ายน้ำ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เป็นต้น หากไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน หรืออายุมากกว่า 40 ปี หรือมีรูปร่างอ้วน สูบบุหรี่ มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคข้ออักเสบ ควรให้แพทย์ตรวจเช็คสุขภาพก่อนเริ่มต้นออกกำลังกาย

ปัจจัยเสี่ยง: ความเครียด

ในแต่ละวัน เราทุกคนต่างก็ต้องเผชิญกับ ความเครียด ในหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีวิธีการรับมือกับ ความเครียด ที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป ความเครียด ที่มากเกินไป ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ นอกจากจะทำให้ปวดหัว เหนื่อยล้า อ่อนเพลียแล้ว ความเครียด ยังส่งผลให้ ความดันโลหิตสูงขึ้น ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อหัวใจอีกหลายอย่าง ถึงแม้ว่าเราจะกำจัดความเครียดออกไปจากชีวิตไม่ได้ทั้งหมด แต่การเรียนรู้ที่จะจัดการ และรับมือกับ ความเครียด จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิด โรคหลอดเลือดหัวใจ ลงได้

เราทุกคนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้มีสุขภาพ หัวใจ ที่แข็งแรงได้ โดยอาจจะเริ่มจากจุดเล็กๆ เช่น ลดอาหารหวาน มัน เค็ม หรือหยุดสูบบุหรี่ เป็นต้น

เครดิต: HealthToday (May 2018)

ที่มา : ทูเดย์อินชัวร์