ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

ข่าวประกันภัยทั่วไป

บริษัท ประกันภัย ‘แม่เดียวกัน’ แห่ควบรวม

ค่าย ประกันภัย ต่างชาติ แม่เดียวกันขยับคึกคัก คปภ.ไฟเขียว “เอไอจี-นิวแฮมพ์เชอร์” ควบรวม ชงคลังอนุมัติ

บริษัท ประกันภัย ‘แม่เดียวกัน’ แห่ควบรวม

กันยายน

8

ประกันภัย แห่ควบรวม เผยค่ายต่างชาติที่มีแม่เดียวกันขยับคึกคัก คปภ.ไฟเขียว “เอไอจี-นิวแฮมพ์เชอร์” ควบรวมกันแล้ว ชงคลังอนุมัติเหตุต่างชาติถือหุ้นเกิน 49% ประเดิมประกาศฉบับใหม่เป็นรายแรก จับตา ประกันวินาศภัย ในเครือเดียวกันจ่อคิวยื่นควบรวมอีกหลายค่าย

จากนโยบายของกระทรวงการคลัง ที่ส่งเสริม บริษัทประกันภัย ควบรวมกิจการกันให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น มีฐานะการเงินแข็งแกร่งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์หรือมาเลเซีย โดยพุ่งเป้าไปที่บริษัทประกันวินาศภัยที่มองว่ามีจำนวนมากเกินไป และส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก มีความอ่อนแอ โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ขานรับพร้อมกับแก้ไขกฎระเบียบใหม่รองรับทันที คือประกาศกระทรวงการคลังเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาการขอผ่อนผันให้มีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย ถือหุ้นเกินกว่า 49% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หรือมีกรรมการเป็นบุคคลซึ่งไม่ใช่สัญชาติไทย ถือหุ้นได้เกินกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด ในกรณีเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของบริษัท ประกันภัย ที่มีผลบังคับใช้ไป ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2559 แล้ว

ทั้งนี้ หนึ่งในบริษัท ประกันภัย ที่เป็นเป้าหมายกลุ่มแรกๆ ที่ คปภ.ส่งเสริมให้ควบรวมกันนอกจากไซส์เล็กแล้ว คือ บริษัทประกันภัย ที่มีเจ้าของหรือมีบริษัทแม่เดียวกัน โดยแหล่งข่าวจาก คปภ.เปิดเผยว่า หลังจากประกาศฉบับใหม่ออกมา บริษัทประกันภัย ในกลุ่มนี้มีความเคลื่อนไหวกันคึกคักมาก โดยเฉพาะกลุ่มบริษัท ประกันภัย ต่างชาติที่มีนโยบายให้ บริษัทประกันภัย ลูกควบรวมเป็นบริษัทเดียว อาทิ บริษัท เอไอจีประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ สาขาประเทศไทย ที่อยู่ในเครือ “เอไอจี กรุ๊ป” ที่ได้เสนอเรื่องควบรวมทั้ง 2 บริษัทเข้ามาระยะหนึ่งแล้ว และ คปภ.ได้เห็นชอบในหลักการไปแล้ว แต่เนื่องจากเมื่อควบรวมกันแล้วทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติเกิน 49% ที่เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศใหม่ ต้องนำเสนอความขอความเห็นชอบจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นรายแรกที่เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศใหม่

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายรายที่เตรียมจะควบรวมเช่นกัน อาทิ บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันส์ สาขาประเทศไทย กับบริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไอโออิ กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่มีผู้ถือหุ้นญี่ปุ่นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้ามาพูดคุยกับ คปภ.หลายครั้งถึงการควบรวมทั้ง 3 บริษัทเข้าด้วยกัน แต่ระยะหลังเงียบไป ซึ่งในส่วนของ ไอโออิ กรุงเทพประกันภัย ทางญี่ปุ่นถือหุ้นอยู่ไม่มาก

ยิ่งกว่านั้นยังมี บริษัท อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่มีกลุ่มอลิอันซ์ถือหุ้นอยู่ รวมไปถึงกลุ่มบริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามซิตี้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่ทางกลุ่มผู้ถือหุ้น อาจจะนำ บริษัทประกันภัย ทั้งหมดควบรวมเป็นบริษัทเดียว

สำหรับบริษัท ชับบ์ประกันภัย (ชื่อเดิม สามัคคีประกันภัย) และบริษัท เอซ ไอเอ็นเอ โอเวอร์ซีส์ อินชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย ที่อยู่ในเครือ “เอช กรุ๊ป” ได้ควบรวมเป็นบริษัทเดียว คือ ซับบ์ประกันภัย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยส่วนที่ยังรวมเข้ามาไม่หมด อยู่ระหว่างทยอยรวมให้ครบทั้ง 100%

ด้านแหล่งข่าวจากเอไอจี กล่าวว่า ขณะนี้ คปภ.ให้ความเห็นชอบในหลักการในการควบรวมทั้ง 2 บริษัทแล้ว แต่เนื่องจากการควบรวมจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติเกิน 49% ต้องขออนุมัติจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อยู่ในกระบวนการที่ คปภ.จะนำเรื่องส่งไปที่กระทรวงการคลัง

สำหรับเบี้ย ประกันภัย ของทั้ง 2 บริษัท จากข้อมูลของสำนักงาน คปภ.ในปี 2559 บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ มีเบี้ย ประกันภัย รับโดยตรงรวม 2,457.78 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 1.16% อยู่ลำดับที่ 27 ของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทย ที่มีบริษัทประกันวินาศภัยทั้งหมด 59 บริษัท (ไม่รวม บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ เนื่องจากเป็นบริษัทรับ ประกันภัย ต่อ และบมจ.สัจจะประกันภัย ที่เพิ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจไป) ขณะที่ บริษัท เอไอจีประกันภัยมีเบี้ย ประกันภัย รับโดยตรงรวม 637.31 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 0.30% อยู่ลำดับที่ 43 หากทั้ง 2 บริษัทควบรวมเป็นบริษัทเดียว จะมีเบี้ย ประกันภัย รับโดยตรงรวม 3,095.09 ล้านบาท ขยับขึ้นไปอยู่อันดับที่ 19 ทันที

นอกจากการควบรวมของกลุ่ม บริษัทประกันภัย ที่มีเจ้าของเดียวกันแล้ว บริษัทประกันภัย ที่มีขนาดเล็กและขนาดกลางอื่นๆ ที่ไม่ได้มีเจ้าของเดียวกัน อาจจะหันมามองแนวทางการควบรวมกิจการกันมากขึ้นก็เป็นได้ เพื่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และอยู่รอดได้

อนึ่ง ประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว ออกมารองรับบริษัทที่มีฐานะการเงินดีแต่ต้องการเพิ่มทุน หรือควบรวมกัน เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทมากขึ้นไปอีก ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติเกิน 49% ซึ่งในอดีตภาครัฐไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติถือหุ้นเกิน 49% ในกรณีนี้ได้ โดยอนุญาตให้เฉพาะ บริษัทประกันภัย ที่มีปัญหาด้านฐานะการเงินเท่านั้น

ที่มา : สยามอินชัวร์ นิวส์