ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

ข่าวประกันภัยทั่วไป

คปภ. ทำคลอดข้อมูลกลาง ประกันภัย สำเร็จ

ร่วมมือ 60 บริษัทประกันภัย สร้าง Insurance Bureau พลิกโฉมระบบฐานข้อมูล ระบบสารสนเทศ ประกันภัย ยกระดับการพัฒนาธุรกิจ การกำกับดูแล

คปภ. ทำคลอดข้อมูลกลาง ประกันภัย สำเร็จ

กันยายน

3

คปภ. นำ 60 บริษัทประกันวินาศภัย ทำคลอด Insurance Bureau เป็นผลสำเร็จ พลิกโฉมประกันวินาศภัยไทยสู่ยุค Big Data เลขาฯ คปภ. ย้ำ ประชาชนจะได้รับประโยชน์ โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลด้าน ประกันภัย เสริมเขี้ยวเล็บการกำกับดูแลและป้องกันการฉ้อฉลจากธุรกิจ ประกันภัย

เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2560 ณ ตนได้เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย (Insurance Bureau System) ระหว่างสมาคมประกันวินาศภัยไทยและบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 60 บริษัท โดยมีนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เป็นผู้กล่าวรายงานและร่วมแถลงข่าว นับเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัย ที่เข้าสู่ยุคการเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูล ภายใต้บริบท Thailand 4.0

โดยสำนักงาน คปภ. ได้มีนโยบายในการพัฒนาฐานข้อมูลกลางด้าน ประกันภัย มาตั้งแต่การจัดทำแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 1 (2549-2554) ต่อมาจึงได้มีการออกคำสั่ง สำนักงาน คปภ. ที่ 223/2555 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดตั้ง ศูนย์กลางข้อมูลทางด้านประกันวินาศภัย โดยมี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบริหารเป็นประธานคณะทำงาน และมีผู้แทนของสมาคมวินาศภัยไทยร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งต่อมาสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ร่วมมือกับ สำนักงาน คปภ. พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย โดยทางสำนักงาน คปภ. สนับสนุนด้านผลการศึกษาวิเคราะห์และการวิจัย ตลอดจนการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ฯ และทางสมาคมประกันวินาศภัยไทย มีการตั้งผู้เชี่ยวชาญมาทำการออกแบบและพัฒนาระบบฯ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงาน คปภ. จนแล้วเสร็จ และมีการทดสอบประสิทธิภาพแล้ว ทั้งนี้การพัฒนาตามโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อ บูรณาการระบบฐานข้อมูลการประกันวินาศภัย ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบสารสนเทศของอุตสาหกรรม ประกันภัย ของประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของ ผู้เอาประกันภัย รวมทั้งช่วยยกระดับการพัฒนาธุรกิจ และการกำกับดูแลธุรกิจประกันวินาศภัย

การลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางด้านประกันวินาศภัย ระหว่างสมาคมประกันวินาศภัยไทยกับบริษัทประกันวินาศภัยในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก บริษัทประกันวินาศภัย โดยมีบริษัทประกันวินาศภัยเข้าร่วมลงนามถึง 60 บริษัท และทาง สำนักงาน คปภ. ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งในแง่ของหน่วยงานกำกับดูแลที่ริเริ่มในการผลักดัน ให้เกิดศูนย์กลางข้อมูลทางด้าน ประกันภัย หรือ Insurance Bureau ถือเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญที่จะต่อยอดการจัดทำศูนย์กลางข้อมูลทางด้าน ประกันภัย ให้ขยายไปถึงข้อมูลด้านการ ประกันชีวิต ด้วย โดยจะได้ขยายผลดำเนินการในขั้นตอนต่อไป หลังจากที่ระบบฐานข้อมูลกลาง ด้านการประกันวินาศภัยมีเสถียรภาพ และเริ่มขับเคลื่อนไปได้ระยะหนึ่ง

“ในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย หรือ Insurance Bureau ด้านประกันวินาศภัย จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพในการกำกับดูแลระบบ ประกันภัย ตลอดจนการเสริมสร้างการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้าน ประกันภัย ได้ง่ายขึ้น และเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบ ประกันภัย มากขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลจาก Insurance Bureau นั้น ยังสามารถใช้ประโยชน์ในการอ้างอิง และพัฒนาประสิทธิภาพ การบริหารจัดการในการรับ ประกันภัย การกำหนดอัตราเบี้ย ประกันภัย และค่าสินไหมทดแทน ได้อย่างสอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงของการรับ ประกันภัย ได้อย่างแท้จริง อันช่วยลดความเสี่ยงในปัจจุบันลงได้ ซึ่งในอดีตอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยขาดข้อมูลสถิติอ้างอิงในเรื่องต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้แต่ละบริษัทต้องบริหารจัดการ ตามความแตกต่างของประสบการณ์ของแต่ละบริษัท”

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญในการทำบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย ระหว่างสมาคมประกันวินาศภัยไทยและบริษัทประกันวินาศภัย มีสาระสำคัญคือ บริษัทประกันวินาศภัย จะส่งข้อมูลเกี่ยวกับการรับประกันวินาศภัยและค่าสินไหมทดแทนให้กับ สำนักงาน คปภ. ตามคำสั่ง คปภ. และประกาศนายทะเบียนที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงาน คปภ. จะพิจารณาส่งข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ ในการพัฒนาธุรกิจ ประกันภัย ให้กับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ซึ่งข้อมูลที่จะจัดส่งจะต้องไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอา ประกันภัย ผู้รับผลประโยชน์ และผู้ที่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน

ทั้งนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทยจะต้องส่ง Source Code ให้กับ สำนักงาน คปภ. ตลอดจนดูแลรักษาระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย ให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ตลอดการดำเนินการโดยต้องประสานให้การดำเนินงาน ของระบบฐานข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยเป็นไปตามกฎหมาย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. ตลอดเวลา และต้องนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ประกันภัย และเผยแพร่ให้บริษัทประกันวินาศภัยใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสม ตลอดจนต้องจัดส่งข้อมูลที่ได้วิเคราะห์ บริหารจัดการให้กับสำนักงาน คปภ. ตามระเบียบที่สำนักงาน คปภ.กำหนด เงื่อนไขที่ระบุใน MOU ซึ่งสมาคมประกันวินาศภัยต้องปฏิบัติตามคือ สมาคมประกันวินาศภัยไทย จะต้องไม่นำข้อมูลทั้งหมด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อมูลไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน บุคคลที่สาม หรือไม่นำข้อมูลที่ได้ไปแสวงหาผลประโยชน์ ไม่ว่าทางหนึ่งทางใดในเชิงพาณิชย์ รวมตลอดถึงจะไม่นำข้อมูลที่ได้ไปกระทำการใดๆ อันเป็นทางที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ บริษัทประกันวินาศภัย หากปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าว สมาคมประกันวินาศภัยไทยจะต้องยุติการรับข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลกลาง ด้านการประกันวินาศภัย และแจ้งให้สำนักงาน คปภ. ทราบในทันที และสำนักงาน คปภ. จะหยุดส่งข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยให้สมาคมประกันวินาศภัยไทย จนกว่าจะมีการดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไข

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ฐานข้อมูลกลาง หรือ Insurance Bureau จะส่งผลทำให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสร้างความเป็นธรรมด้านการ ประกันภัย ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถติดตามการทุจริตฉ้อฉลจากธุรกิจ ประกันภัย สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับ ตรวจสอบการดำเนินงานของ บริษัทประกันภัย ได้อย่างเหมาะสม ทั้งด้านพฤติกรรมทางการตลาดในการรับ ประกันภัย และการจ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งเป็นการยกระดับการดำเนินกิจการของธุรกิจ ประกันภัย มีฐานข้อมูลอ้างอิงอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยที่แท้จริง สนับสนุนการพิจารณาอัตรา เบี้ยประกันภัย การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ ประกันภัย

นอกจากนี้ ประโยชน์ที่ประชาชนและสาธารณชนจะได้รับ คือ สามารถเข้าถึงข้อมูลการ ประกันภัย และสินไหมทดแทนของตนเอง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรม ประกันภัย โดยรวม และในอนาคตจะมีการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบ “ข้อมูลแบบเปิด” (Open Data) และพัฒนาการเชื่อมต่อเพื่อการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวในลักษณะ Open API (Automatic Programming Interface) เพื่อให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลกรมธรรม์ และค่าสินไหมทดแทน ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความโปร่งใส ตลอดจนส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ด้านการ ประกันภัย

นอกจากการขับเคลื่อนเรื่อง Insurance Bureau แล้ว สำนักงาน คปภ. ยังเดินหน้าเรื่องการทบทวน และยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัย และไม่จำเป็น (Regulatory Guillotine) ตามนโยบายของรัฐบาล โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะขึ้นมาดูแลในเรื่องนี้ และได้เดินหน้าการดำเนินงานไปแล้ว โดยในเบื้องต้นจะได้ยกเลิกประกาศ และคำสั่งนายทะเบียน เกี่ยวกับการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจประกันวินาศภัยตามรูปแบบเดิม เพื่อรองรับการจัดทำระบบฐานข้อมูลการ ประกันภัย ในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะเป็นการลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และขณะเดียวกันก็ช่วยลดภาระของบริษัทฯ ได้ในระดับหนึ่งด้วย

ที่มา : อาร์วายทีไนน์