ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

ข่าวประกันภัยทั่วไป

แบงก์ปล่อยกู้คนแก่ ได้เวลาปลุกผี “ประกันสินเชื่อรายย่อย”

แบงก์เปิดโครงการ ประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย น่าจะ “สอดรับ” ความต้องการ ผู้สูงอายุจะจ่ายเบี้ย ประกันภัย ถูกลง

แบงก์ปล่อยกู้คนแก่ ได้เวลาปลุกผี “ประกันสินเชื่อรายย่อย”

สิงหาคม

3

ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายของหลายๆ สินค้า และบริการที่ต้องเข้าไปรองรับ แม้กระทั่ง “ประกันภัย” เอง ซึ่งปัญหาหนึ่งที่มองเห็น คือ ระบบการเก็บออมไว้เพื่อใช้ในยามเกษียณ ที่ยังไม่มากนักของคนในยุคนี้ ที่จะกลายเป็นผู้สูงวัยในอนาคต จึงมีการพูดถึง “ทางออก” สำหรับผู้สูงวัยที่มีทรัพย์สิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ บ้าน ที่ดิน เป็นต้น ด้วยการทำ ประกันภัย ที่เรียกว่า “รีเวิร์ส มอทเกจ” (Reverse Mortgage Insurance) นำอสังหาริมทรัพย์ที่ตัวเองเป็นเจ้าของมาเป็นหลักทรัพย์จำนองไว้กับธนาคาร แล้วธนาคารจะจ่ายเงินกู้ให้เป็นรายเดือน หรือรายงวด ตามแต่จะตกลงกัน จนกว่าผู้กู้จะเสียชีวิต หรือจนกว่าจะหมดอายุสัญญาเงินกู้ โดยที่ผู้กู้ไม่ต้องชำระคืนเงินต้น ซึ่งเป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ แต่ในไทยยังเป็นเรื่องใหม่ และดูเหมือนว่าจะมีเพียง “ธนาคารออมสิน” ที่กำลังจะปล่อยกู้ “รีเวิร์ส มอทเกจ” อย่างเป็นรูปธรรม

ล่าสุด “สมาคมธนาคารไทย” ได้ออกข่าว ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2560 ธนาคารพาณิชย์ก็มีโครงการ “ประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย” ซึ่งเท่าที่อ่านรายละเอียดวัตถุประสงค์ “ไม่ใช่ลักษณะของ รีเวิร์ส มอทเกจ” เพราะเป็นการปล่อยกู้ให้นำไปซื้อ หรือปลูกสร้างที่อยู่ หรือเพื่อต่อเติม ซ่อมแซม สำหรับ “ผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไป ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่ร่วมกับบิดามารดา” โดยที่ โดยบิดามารดาต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา และมีหลักฐานการหักลดหย่อนภาษีค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา จากกรมสรรพากรไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งธนาคารจะปล่อยกู้ให้รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 30 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย “ในกรณีที่กู้พร้อมจะทำ ประกันชีวิต 4.25%” และ “กรณีไม่ได้ทำ ประกันชีวิต 4.50%” เฉลี่ย 3 ปีแรก โดยมีเป้าหมายจะปล่อยกู้รวมกันทุกธนาคารใน 6 เดือน 10,000 ล้านบาท

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้หวนนึกถึงโครงการของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ “คปภ.” ที่ออกมาเมื่อ 2 ปีก่อน ที่ต้องการแก้ปัญหาการถูกแบงก์ “บังคับทำประกันภัยเมื่อกู้ซื้อบ้าน” โดยที่ผู้กู้ไม่มีสิทธิ์เลือก คือ โครงการ “กรมธรรม์คุ้มครองสินเชื่อเพื่อประชาชน” ซึ่งเป็น “กรมธรรม์คุ้มครองสินเชื่อมาตรฐาน” สำหรับการขอสินเชื่อแบงก์ ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 4 ล้านบาท โดยมี 12 ประกันชีวิตเปิดขายผ่านเว็บไซต์ และขายตรงกับลูกค้าหากติดต่อซื้อ โดยระยะเวลาคุ้มครองจะเท่ากับระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณทุน ประกันภัย ที่ลดลง จะใกล้เคียงกับดอกเบี้ยผ่อนบ้านเป็นหลัก คุ้มครองกรณีเสียชีวิต และทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง มีระยะเวลาเอา ประกันภัย 1-30 ปี เป็นแบบชำระเบี้ยครั้งเดียว หรือ ซิงเกิ้ล พรีเมี่ยม (Single Premium) กรณีลูกค้าจะรีไฟแนนซ์ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องยกเลิกกรมธรรม์ และหากยังไม่ได้ทำสัญญาเงินกู้ยืม ก็สามารถยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับกรมธรรม์

แม้ว่าแบบประกันนี้ “ให้ส่วนลดจากปกติถึง 12.5%” เพราะถือว่าเป็นการ “ซื้อตรง” กับบริษัท ก็เอาค่าคอมมิชชั่นมาเป็นส่วนลดค่าเบี้ยให้กับลูกค้า ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความสนใจนัก เพราะอย่างที่บอก ประกันสินเชื่อตัวนี้ “ค่าเบี้ยถูกกว่าปกติ” กำไรแทบจะไม่มี สู้ขายประกันสินเชื่อปกติแบบอื่นที่ค่าเบี้ยสูงกว่าก็ไม่ได้

ขณะที่อีกด้าน “คปภ.” เองก็ถูกค่ายประกัน “โอดครวญ” โดยเฉพาะบรรดาค่ายประกันที่ไม่มีแบงก์ในเครือ ทำนองว่า “ไม่โปรโมต” กรมธรรม์นี้ให้คนรู้จัก เพราะจริงๆ แล้ว “เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค” อย่างมาก

ดังนั้น เมื่อแบงก์เปิดโครงการประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย กรมธรรม์คุ้มครองสินเชื่อเพื่อประชาชนตัวนี้ ก็น่าจะ “สอดรับ” กับความต้องการของตลาด โดยผู้สูงอายุจะจ่ายเบี้ย ประกันภัย ถูกลงด้วย ด้านแบงก์เอง หากมองเนื้อแท้ความเป็นจริง กรมธรรม์นี้นอกจากแบงก์จะได้รับเบี้ยประกันและลูกค้าแน่นอน ยังไม่ต้องมาบริการให้ยุ่งยากเหมือนกรมธรรม์ทั่วไปอีกด้วย

จึงน่าสนใจไม่น้อยที่จะถือเป็นโอกาสนี้ “ปลุกผี” กรมธรรม์คุ้มครองสินเชื่อเพื่อประชาชน ให้คึกคักตาม “เจตนารมณ์” ของการออกสินค้าตัวนี้ ซึ่งจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน วินาทีก็ขึ้นกับว่าทุกฝ่ายจะยก “ประโยชน์ของผู้บริโภค” มาเป็นที่ตั้งเท่านั้น

ที่มา : สยามอินชัวร์ นิวส์