ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

ข่าวประกันภัยทั่วไป

จับตา มาตรการ คปภ.กำราบตัวแทนฉ้อฉล อมเบี้ย ประกันภัย ลูกค้า

ปัญหาการฉ้อฉลของตัวแทน เมื่อขาย ประกันชีวิต นับเป็นปัญหาใหญ่ที่มักพบ คปภ. พยายามแก้ไขกฎหมาย

จับตา มาตรการ คปภ.กำราบตัวแทนฉ้อฉล อมเบี้ย ประกันภัย ลูกค้า

กรกฎาคม

11

สำหรับปัญหาการฉ้อฉลที่เกิดขึ้นของตัวแทน เมื่อขาย ประกันชีวิต ให้กับลูกค้าแล้วไม่นำส่งเบี้ย ประกันชีวิต ให้กับบริษัท รวมทั้งไม่ออกกรมธรรม์หลังชำระเงินให้กับลูกค้า นับเป็นปัญหาใหญ่ที่มักพบในการกระทำผิดของตัวแทน ซึ่งทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยังแก้ปัญหานี้ไม่ตก เป็นเพราะทุกวันนี้การเสนอขาย ประกันชีวิต ค่อนข้างยากลำบาก จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ค่าเบี้ย ประกันภัย ปัจจุบันถูกปรับเพิ่มแพงขึ้นกว่าอดีตมาก อัตรา ดอกเบี้ย ที่ต่ำส่งผลกระทบ สำหรับผลตอบแทนที่ตอบโจทย์ลูกค้าค่อนข้างยาก

แม้ปัจจุบัน คปภ.เองจะมีบทบัญญัติอย่างเคร่งครัด ในการขอรับใบอนุญาต หรือต่อใบอนุญาตเป็นตัวแทน จะต้องมีการอบรมเป็นรายชั่วโมงตามแต่อายุการต่อใบอนุญาตตัวแทน เพื่อขัดเกลาให้ตัวแทนมีจรรยาบรรณ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง รวมถึงการลงโทษตัวแทนที่ทุจริต กรณีฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท รวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาตเป็นเวลา 5 ปี แต่ก็ยังไม่เข็ดหลาบ

ล่าสุดได้เกิดคดีอื้อฉาว สร้างความเสียหายกับลูกค้าและความเชื่อมั่นต่อธุรกิจ ประกันชีวิต อย่างมาก เมื่อเกิดคดีตัวแทนของ บริษัท กรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้ฉ้อฉลโดยการให้ลูกค้าชำระเบี้ย ประกันภัย ล่วงหน้าทั้งจำนวน แล้วนำค่าเบี้ยดังกล่าวไปลงทุนกับบริษัทที่ตัวเองตั้งขึ้น โดยรับรองว่าจะจ่ายผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร

ตามที่ ผู้ช่วยเลขาฯ คปภ. สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ได้จำแนกกลุ่มผู้เสียหายที่เข้าร้องเรียนต่อ คปภ. แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 มี 26 ราย มูลค่าความเสียหาย 74 ล้านบาท มีการชำระเบี้ยประกันตั้งแต่ปี 2557 กลุ่มนี้มีการกู้เงินตามกรมธรรม์และร่วมลงทุนในบริษัทที่ตัวแทนตั้งขึ้น โดยตัวแทนยินยอมรับสภาพหนี้ และจะดำเนินการชำระเบี้ย ประกันชีวิต แทนลูกค้า หากการลงทุนประสบกับภาวะขาดทุน ซึ่งทาง คปภ.ได้แนะนำให้ บริษัทประกันชีวิต ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีตัวแทน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงินต่อไป

กลุ่มที่ 2 มี 38 ราย มูลค่าความเสียหาย 41 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีการชำระเบี้ย ประกันภัย ล่วงหน้า โดยตัวแทนนำเงินส่วนเกินที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ไปลงทุนในบริษัทที่ตัวเองตั้งขึ้น กลุ่มที่ 3 มี 14 ราย เป็นเงิน 12 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่ต่ออายุกรมธรรม์เดิม และชำระหนี้เงินกู้ตามกรมธรรม์ และกลุ่มที่ 4 มี 2 ราย มีการซื้อกรมธรรม์ ประกันชีวิต ใหม่ โดยความคืบหน้าล่าสุดได้มีผู้เสียหายร้องเรียนเพิ่มเข้ามา จนถึงขณะนี้เป็นจำนวน 90 ราย คิดเป็นวงเงินความเสียหาย 140 ล้านบาท

ทั้ง คปภ.และภาคธุรกิจ ประกันชีวิต ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ก.ค. 2559 คปภ.ได้ออกประกาศเรื่องการกำหนดแบบ ขนาด ตัวอักษร ภาษาที่ใช้ และข้อความของเอกสารแสดงการรับเงิน ของบริษัทประกันชีวิต 2559 และประเด็นกฎเหล็ก คปภ.ที่กำหนดให้กรณีลูกค้าชำระเบี้ย ประกันภัย แล้ว หากพ้นกำหนดระยะเวลา 1 เดือนไปแล้ว ให้ถือว่า บริษัทประกันชีวิต จะต้องให้ความคุ้มครองอัตโนมัติทันที แม้ว่ากรมธรรม์จะยังไม่ออกก็ตาม

ซึ่งกรณีนี้กลับเป็นการสร้างความยุ่งยาก ส่งผลกระทบกับลูกค้า โดย บริษัทประกันชีวิต ได้มีการรื้อกติกาใหม่กับตัวแทนกันจ้าละหวั่น เช่น ออกกฎเหล็กใหม่ว่า กรณีที่อยู่ระหว่างขอประวัติโรงพยาบาลของรัฐบาลอยู่ บริษัทจะออกไปหนังสือคุ้มครองชีวิตกรณีเสียชีวิตเท่านั้น กรณีค่ารักษาพยาบาลยังไม่คุ้มครองให้ บางกรณีหากยังไม่ส่งเงินที่จ่ายค่าเบี้ย ประกันภัย เข้ามาแล้ว ก็จะถูกตีกลับออกก่อนที่จะครบกำหนด 1 เดือนทันที เพื่อไม่ให้บริษัทมีความผิดตามกฎเหล็กใหม่ ในกรณีไม่สามารถออกกรมธรรม์คุ้มครองให้ลูกค้าได้ทันภายใน 1 เดือน

ส่วนบางบริษัทเลือกที่จะให้ตัวแทน นำใบสมัครกลับไปให้ลูกค้าได้กรอกใบคำขอสมัครทำประกันชีวิตเข้ามาใหม่อีกรอบ ระหว่างที่รอหลักฐานเอกสารยืนยันจาก ร.พ. ในเรื่องปัญหาสุขภาพของลูกค้าก็มี เพื่อใช้เป็นหลักฐานปกป้องตัวเองไม่ให้ คปภ.เล่นงานได้

แม้ว่า คปภ.ในยุคปัจจุบันพยายามหาหนทางแก้ไขกฎหมาย โดยการเพิ่มบทบาท คปภ.ให้สามารถกระทำการแทน เสมือนหนึ่งเป็นผู้เสียหายและฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายที่ทุจริตหรือฉ้อฉล โดยมีการแก้ไขกฎหมายระบุโทษความผิดทางอาญาเข้าไป แต่ทว่านั่นคงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หรือเป็นการป้องปรามตัวแทนที่คิดนอกลู่นอกทางได้เกิดความกลัว แต่ต้องอย่าลืมการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนับเป็นประเด็นใหญ่สำคัญทีเดียว โดยเฉพาะปัจจุบันการแข่งขันในตลาดนับวันจะรุนแรง กลยุทธ์การลดแลกแจกแถมในตลาดได้เปลี่ยนไปมากทีเดียว ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณอันตรายไม่น้อยทีเดียว หาก คปภ.ไม่เข้าไปจัดการหรือป้องปราม กับกลยุทธ์ลดแลกแจกแถมกันอย่างเมามัน

เครดิต : เส้นทางนักขาย

ที่มา : ทูเดย์อินชัวร์