ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

ข่าวประกันภัยทั่วไป

IMF ผวา เอเชียคนแก่ล้น หาแผนรับมือ ยกบทเรียนญี่ปุ่น

โครงสร้างประชากรดังกล่าว จะกดดันเศรษฐกิจ ระบบเงินบำนาญแห่งชาติ ระบบการดูแลรักษาพยาบาลของประเทศ

IMF ผวา เอเชียคนแก่ล้น หาแผนรับมือ ยกบทเรียนญี่ปุ่น

มิถุนายน

25

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (The International Monetary Fund : IMF) เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับปัญหาประชากรผู้สูงอายุ โดยขอให้ต่างประเทศต่างๆ ลงมือดำเนินการหรือหามาตรการแต่เนิ่นๆ เพื่อรับมือกับประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันได้เตือนว่า ประชากรในบางประเทศของภูมิภาคนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะ “แก่ก่อนรวย”

ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ ไอเอ็มเอฟ นำออกมาเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ ไอเอ็มเอฟ เตือนว่า จำนวนผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิด “กำแพงภาษี” ด้านประชากร ที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียจะมีความสุขกับการเติบโตทางด้านประชากรศาสตร์ก็ตาม

“การจัดการกับคนสูงอายุเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเอเชีย เนื่องจากประชากรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ มีระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันหลายๆ ประเทศในเอเชีย ประชากรก็แก่ลงเรื่อยๆ และบางประเทศอยู่ในภาวะแก่ก่อนรวยด้วยซ้ำ”

รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า อัตราการเติบโตของประชากรในภูมิภาคเอเชีย คาดว่าจะลดลงเป็นศูนย์ในปี 2593 โดยกลุ่มประชากรวัยทำงานซึ่งปัจจุบันอยู่ในจุดสูงสุด จะลดลงในหลายทศวรรษข้างหน้านี้ ขณะที่สัดส่วนประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2593 จะมีจำนวนเกือบ 2.5 เท่าของจำนวนประชากรในปัจจุบัน

ไอเอ็มเอฟ ได้ยกกรณีศึกษาที่ญี่ปุ่นว่า สิ่งท้าทายที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้มีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ เรื่องที่สอง จำนวนประชากรลดลง โดยกลุ่มคนวัยแรงงานลดลงกว่า 7% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จำนวนประชากรส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นที่เป็นผู้สูงอายุ และต้องพึ่งพาเงินบำนาญของประเทศเป็นหลัก อาจจะอยู่เบื้องหลังปัญหาการออมและการลงทุนที่ต่ำเกินไปของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาจมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นกำหนดไว้ที่ 2% ด้วย

“ประสบการณ์ของญี่ปุ่นสะท้อนว่า ปัจจัยทางด้านประชากรศาสตร์อาจส่งผลกระทบ ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ และนโยบายทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ” ไอเอ็มเอฟ ตอกย้ำในรายงานโดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียเรียนรู้จากประสบการณ์ของญี่ปุ่น และจัดการกับปัญหาทางด้านประชากรศาสตร์แต่เนิ่นๆ ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ การจัดทำแผนงบประมาณที่น่าเชื่อถือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของแรงงานผู้หญิงและผู้สูงอายุ ตลอดไปจนถึงการปรับปรุงบริการด้านความมั่นคงทางสังคมอื่นๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ไอเอ็มเอฟ ตอกย้ำถึงศักยภาพของ เอเซีย แปซิฟิก ว่า ยังคงเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในโลก และเป็นผู้นำในตลาดโลกอยู่ด้วย โดยคาดว่าจีดีพีของเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตได้ถึง 5.5% และ 5.4% ในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ แต่ปัจจัยด้านประชากรผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่เคยประสบกับภาวะมาก่อนก็เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงอยู่มาก

ญี่ปุ่นกุมขมับ คนลดฮวบ 6 ปีซ้อน

สำหรับสถานการณ์เกี่ยวกับจำนวนประชากรในญี่ปุ่นนั้น ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศและการสื่อสาร ได้เปิดเผยสถิติที่น่าสนใจว่า ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ญี่ปุ่นมีประชากรทั้งหมด 126.93 ล้านคน ลดลงถึง 162,000 คน เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 6 แล้ว แม้ว่าจำนวนผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็น 136,000 คน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์จะช่วยลดการชะลอตัวลงได้บ้างก็ตาม โดยประชากรยังคงอาศัยอยู่หนาแน่นทั้งในและรอบๆ เมืองใหญ่

สังคม “ซุปเปอร์เอจจิ้ง”

ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นยังคงเดินไปสู่เส้นทางของ “สังคมผู้สูงอายุ” (superaging society) เป็นผลมาจากอายุขัยเฉลี่ยของประชากรสูงขึ้น และอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำลง ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตในรอบปีที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนกันยายน สูงกว่าจำนวนเด็กแรก 296,000 คน เป็นสาเหตุการลดลงโดยธรรมชาติของจำนวนประชากรติดต่อกันเป็นปีที่ 10 แล้วเช่นกัน โดยจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนถึง 27.3% สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ขณะที่สัดส่วนของคนวัยทำงานที่มีอายุตั้งแต่ 15-64 ปี ลดลงเหลือ 60.3% ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2494

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดเป้าหมายที่จะรักษาจำนวนประชากรไว้ที่ 100 ล้านคน ในปี 2603 ก็ตาม แต่หากดูแนวโน้มในปัจจุบันแล้วยังมีคำถามอยู่ โดยสถาบันวิจัยประชากรและความมั่นคงแห่งชาติ คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรญี่ปุ่นจะลดลงไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ล้านคน ในปี 2596 และเหลือ 88 ล้านคน ภายในปี 2608 หรืออีก 48 ปีข้างหน้า

กระทบระบบสุขภาพแห่งชาติ

มีความกังวลกันว่า โครงสร้างประชากรดังกล่าวจะกดดันเศรษฐกิจ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกเครื่องระบบเงินบำนาญแห่งชาติ และระบบการดูแลรักษาพยาบาลของประเทศใหม่ ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามต่างๆ ตามมา อาทิ อาจจะมีการตัดเงินบำนาญ เพิ่มค่าธรรมเนียมในการใช้บริการด้านการรักษาพยาบาลของรัฐ และเรียกเก็บเงินสมทบจากผู้สูงอายุที่ร่ำรวยเพิ่มขึ้นก็เป็นได้

ในปี 2508 ระบบประกันสังคมถูกสันนิษฐานว่า คนงานจำนวน 9.1 คน ที่มีอายุระหว่าง 20-64 ปี จะต้องดูแลหรืออุดหนุนผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 1 คน แต่ในปี 2608 คาดการณ์กันว่า ตัวเลขดังกล่าวน่าจะมีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ คนทำงาน 1.2 คนเท่านั้น ต่อผู้สูงอายุ 1 คน

ที่มา : สยามอินชัวร์ นิวส์