ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

ข่าวประกันภัยทั่วไป

คปภ.ชูธง 2560 ปีแห่งการขับเคลื่อน ประกันภัย ดิจิทัล

กิจกรรมที่เคลื่อนไหวบนโลกใบนี้ ถูกแปลเป็นข้อมูลดิจิตอล คปภ. ก็หลีกเลี่ยงกระแสไม่ได้ เช่นเดียวกับธุรกิจ ประกันภัย และธุรกิจอื่นๆ

คปภ.ชูธง 2560 ปีแห่งการขับเคลื่อน ประกันภัย ดิจิทัล

กุมภาพันธ์
15

ภาพรวมธุรกิจ ประกันภัย ปี 2559 เป็นอย่างไร และปี 2560 หรือปีไก่ จะเดินไปทางใด เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายสนใจมากทีเดียว แน่นอนผู้ให้คำตอบเรื่องนี้ได้ดีคงหนีไม่พ้น เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

จากการที่ประเทศไทยก้าวสู่ยุค 4.0 เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย อย่าง นาโนเทคโนโลยี ไบโอเทคโนโลยี Internet of Thing และ AI ซึ่งจะทำให้ทุกกิจกรรมที่เคลื่อนไหวบนโลกใบนี้ ถูกแปลเป็นข้อมูลดิจิตอล ดังนั้นผู้ที่สามารถบริหารจัดการ Big Data ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นฝ่ายได้เปรียบในทุกมิติ สำนักงาน คปภ.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจนี้ ก็หลีกเลี่ยงกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้เช่นเดียวกับธุรกิจ ประกันภัย และธุรกิจอื่นๆ จึงจำเป็นต้องก้าวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงใน เศรษฐกิจดิจิตอล ที่เกิดขึ้น

ดังนั้นจึงกำหนดทิศทางการทำงานของสำนักงาน คปภ.ในปี 2560 เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนการ ประกันภัย ในยุคดิจิตอล ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น "Digital Insurance Regulator" โดยจะคงไว้ซึ่งบทบาทของการเป็นผู้กำกับดูแล สนับสนุน ส่งเสริมอุตสาหกรรม ประกันภัย รวมทั้งให้ความสำคัญในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมดิจิตอลในอุตสาหกรรม ประกันภัย และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความเป็นธรรม โดยแนวโน้มของอุตสาหกรรม ประกันภัย ในปี 2560 คาดว่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่องทั้ง ประกันชีวิต และ ประกันวินาศภัย โดยคาดการณ์ว่าทั้งอุตสาหกรรม ประกันภัย จะมีเบี้ย ประกันภัย รับรวมอยู่ที่ 8-9 แสนล้านบาท

เลขาฯ คปภ.กล่าวว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ได้พยายามสร้างสมดุลในการส่งเสริมธุรกิจให้แข็งแกร่ง ควบคู่กับคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนให้มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นต่อ คปภ.และธุรกิจโดยรวม ซึ่งสอดรับกับ 4 ยุทธศาสตร์หลักๆ ตามแผนพัฒนาการ ประกันภัย ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2559-2563) ที่เริ่มขับเคลื่อนไปแล้ว โดยผลงานที่โดดเด่นทางด้าน ยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรม ประกันภัย ได้แก่ การออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เกี่ยวกับอัตราคิดลดกระแสเงินสด ที่เกิดจากสัญญา ประกันภัย ให้เหมาะสมกับมูลค่าปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจจากสถานการณ์ภาวะอัตรา ดอกเบี้ย ต่ำ และทำงานเชิงรุกภายใต้นโยบายของรัฐบาลในการ ประกันภัย ข้าวนาปี จนทำให้ปีการผลิต 2559/2560 มียอดรวมทำ ประกันภัย ทั่วประเทศสูงถึง 27.9 ล้านไร่เป็นครั้งแรก รวมถึงยังได้จัดทำหลักเกณฑ์กำกับดูแลบริษัท ประกันภัย ที่จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร โดยออกประกาศ คปภ. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการออก กธ. การเสนอขาย กธ. การชดใช้เงินตามสัญญา ประกันภัย / ชีวิต โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

อีกผลงานที่โดดเด่นในยุทธศาสตร์ด้านนี้ ยังรวมถึงการยกระดับการกำกับดูแลในเชิงรุก ด้วยการจัดประชุมผู้บริหารระดับสูงด้าน ประกันภัย ประจำปี 2559 (CEO Insurance Forum 2016) เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก เพื่อแถลงทิศทางนโยบายในการพัฒนาระบบ ประกันภัย ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ภายใต้กรอบแผนพัฒนาการ ประกันภัย ฉบับที่ 3 และนำประเด็นร่วมสมัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับการ ประกันภัย มาอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อพัฒนาระบบการกำกับดูแล และกฎ กติกาด้าน ประกันภัย ให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

รวมทั้งมีการกำกับตัวแทน และนายหน้า ประกันภัย เชิงรุก โดยจัดทำมาตรฐานแนวทางการควบคุมคุณภาพการเสนอขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท ประกันภัย บุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบ รวมถึงตัวแทน/นายหน้า ประกันภัย และกำหนดมาตรการหากพบว่ามีการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม และที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมาก คือ การออกข้อแนะนำในการซื้อผลิตภัณฑ์ ประกันภัย ผ่านธนาคาร 12 ข้อ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเอง รวมถึงความคุ้มครอง และข้อยกเว้นของกรมธรรม์ ประกันภัย ให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วน ก่อนตัดสินใจซื้อ ประกันภัย

พร้อมกันนี้ยังได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศร่วมกับสำนักงาน คปภ. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจการขาย ประกันภัย ผ่านธนาคารพาณิชย์ พร้อมให้ข้อแนะนำต่อผู้ปฏิบัติ ส่งผลให้เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการบังคับซื้อ ประกันภัย ร่วมกับธุรกิจธุรกรรมการเงิน (cross sell) ลดลงร้อยละ 77 อีกทั้งยังได้ยกระดับตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาฐานะการเงินบริษัท ประกันภัย อย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้ปรับเพิ่มวงเงินคุ้มครอง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 จากเดิมบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อคน ปรับเพิ่มเป็น 8 หมื่นบาทต่อคน กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร จาก 2 แสนบาท ปรับเพิ่มเป็น 3 แสนบาทต่อคน

สำหรับผลงานโดดเด่นในด้านยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความรู้ และการเข้าถึงการ ประกันภัย ได้แก่ การออกแบบ กธ. ประกันภัย อุบัติเหตุเพื่อคนพิการสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงระบบ ประกันภัย สนับสนุนช่องทางการเข้าถึงการ ประกันภัย สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) โดยจัดทำประกาศ คปภ.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการเสนอขาย และการปฏิบัติหน้าที่ ออกมา 2 ฉบับ สำหรับตัวแทนประกันชีวิต-วินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต-วินาศภัย หรือพนักงานของบริษัท ในการเสนอขายกรมธรรม์ ประกันภัย 200 สำหรับรายย่อย และยังได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงและเครือข่ายการ ประกันภัย อย่างครบวงจร ด้วยการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ 7 หน่วยงาน ได้แก่ สคบ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ธกส. ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย การรถไฟฯ (รฟท.) กสทช. และ ขสมก. รวมทั้งเดินหน้าสู่การปฏิรูปการ ประกันภัย พืชผล โดยร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน จัดอบรมความรู้ ประกันภัย (TRaining for the trainers) ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการ ประกันภัย พืชผล โดยเริ่มจากการ ประกันภัย ข้าวนาปีนำร่อง

อีกผลงานโดดเด่นในปี 2559 ตามยุทธศาสตร์การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน ได้แก่ การกำหนดแนวทางพัฒนาระบบการกำกับผลิตภัณฑ์ อัตราเบี้ย ประกันภัย และค่าบำเหน็จสำหรับการประกันวินาศภัย นอกจากนี้ ยังได้พัฒนากระบวนการอนุมัติ/อนุญาต ผลิตภัณฑ์ ประกันภัย ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์จนแล้วเสร็จ พร้อมกับสร้างความร่วมมือและพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจ ประกันภัย กับหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศลาว จนได้มีการลงนามในเอ็มโอยูไปแล้ว และยังได้เจรจาจัดทำความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจ ประกันภัย ของกัมพูชา และประเทศบรูไน ซึ่งอยู่ระหว่างรอลงนามเอ็มโอยู อีกครั้งในปีที่ผ่านมา ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดอบรม/สัมมนาร่วมกับ The National Association of Insurance Commissioners (NAIC) และ ASEAN Insurance Training and Research Institute (AITRI) จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศสมาชิกอาเซียน เอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ไม่เพียงเท่านั้นยังได้เตรียมความพร้อมเข้าร่วมโครงการประเมินภาคการเงิน (Financial Assessment Program หรือ FSAP) โดย คปภ.ได้จับมือธนาคารโลก (World Bank) ร่วมพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจ ประกันภัย สู่มาตรฐานสากล เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเกณฑ์การประเมิน การกำกับดูแลธุรกิจ ประกันภัย ตามมาตรฐานสากล โดยมี World Bank เป็นที่ปรึกษาอีกด้วย

สำหรับผลงานโดดเด่นในปี 2559 ในด้านยุทธศาสตร์การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการ ประกันภัย ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรที่เป็นปัญหาสะสมมาในองค์กรสำเร็จ โดยปรับปรุงข้อบังคับสำนักงาน คปภ.และมีการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูง ระดับ Key man แล้วเสร็จ ประกอบด้วยรองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ และผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสหลายตำแหน่ง และคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส และผู้ทรงคุณวุฒิที่ว่างอยู่ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ก่อนเข้าสู่ระบบการจัดสรรพนักงานในตำแหน่งบริหารระดับกลาง และตำแหน่งอื่นๆ ตามโครงสร้างใหม่ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2560 และยังได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลแล้วเสร็จ จำนวน 11 ฉบับ พร้อมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรบุคคล ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2560-2562) สำเร็จเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการก่อตั้งองค์กร

รวมทั้งเสนอขอแก้ไขปรับปรุง พรบ.ประกันชีวิตและ พรบ.ประกันวินาศภัยอย่างครบวงจร เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อทุกภาคส่วน จนร่าง พรบ.ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย กลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มบทบัญญัติที่มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองประชาชนโดยตรง ได้รับความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 นอกจากนี้ยังได้จัดทำร่าง พรบ.ว่าด้วยการ ประกันภัย ทางทะเล พ.ศ.... สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอพิจารณาของ ครม. และมีการยกระดับมาตรฐานระบบการจัดการสินไหม และการจัดการเรื่องร้องเรียน โดยจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้าน ประกันภัย เป็นแห่งแรกในอาเซียน ซึ่งเป็นมิติใหม่ และเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน สามารถเลือกใช้ผู้ไกล่เกลี่ยผู้ชำนาญการจากภายนอกที่มีประสบการณ์ และมีความเป็นกลางมาช่วยไกล่เกลี่ย ตามกติกาที่เป็นระบบสากล และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

“การทำงานเชิงรุก ในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมานั้น ส่งผลทำให้สำนักงาน คปภ.สามารถผลิตชิ้นงาน ทั้งด้านนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกฎ กติกาต่างๆ รวมทั้งบุคลากร ให้มีความพร้อมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้งระบบให้เกิดความแข็งแกร่ง และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน ดังนั้นการทำงานในปี 2560 นี้ ก็จะเป็นลักษณะของการเดินหน้าตามนโยบายที่ได้วางไว้ ติดตามผลการดำเนินการ ตลอดจนเร่งขับเคลื่อนเพื่อให้มาตรการต่างๆ ที่ได้เริ่มไว้ในปีที่แล้ว เกิดความคืบหน้า ขณะเดียวกันก็จะยังคงเดินหน้าการให้ความสำคัญในการคุ้มครองพี่น้องประชาชน ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ตลอดจนการพัฒนาและสร้างกลไกใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับทิศทางของการเติบโตของอุตสาหกรรม ประกันภัย ในเวทีโลกอีกด้วย” นี่คือประเด็นสำคัญที่ เลขาธิการ คปภ.ได้กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : เส้นทางนักขาย