ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

ข่าวประกันภัยทั่วไป

ค้าน 'คลัง' ยกงบ 7 หมื่นล.ให้ ประกันภัย ดูแล

ให้ธุรกิจ ประกันภัย ดูแล สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เชื่อกระทบระบบ รพ.รัฐ เสนอให้ราชการบริหารเอง ไม่ใช่เอื้อประโยชน์เอกชน

ค้าน 'คลัง' ยกงบ 7 หมื่นล.ให้ ประกันภัย ดูแล

ธันวาคม
10

คสร.ค้านคลังเตรียมยกงบ 7 หมื่นล้าน ให้ธุรกิจ ประกันภัย ดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เชื่อกระทบระบบ รพ.รัฐ เสนอให้ราชการบริหารเอง ไม่ใช่เอื้อประโยชน์เอกชน กรมบัญชีกลางต้องปรับปรุงระบบสิทธิประโยชน์ ใช้ยาสมเหตุสมผล

วันที่ 7 ธ.ค. ที่ห้องประชุมศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรกษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) จัดแถลงข่าว "คัดค้านกระทรวงการคลังเตรียมยกงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ให้ธุรกิจ ประกันภัย ดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ" โดยมีอดีตผู้บริหารภาครัฐ เป็นข้าราชการบำนาญเข้าร่วมแถลงครั้งนี้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และตัวแทน คสร. กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังยอมรับว่า ได้เตรียมการในการนำเรื่องการโอนเงิน 7 หมื่นกว่าล้าน ไปให้ธุรกิจ ประกันภัย บริหารจัดการเรื่องค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัว โดยย้ำว่าจะไม่มีการลดสิทธิใดๆ และไม่เพิ่มงบประมาณของประเทศ สิ่งที่เราไม่สามารถรับได้ เนื่องจากมีประสบการณ์เรื่องการบริหาร พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ.2535 โดยบริษัทเอกชนนอกจากมีค่าบริหารจัดการแล้ว ยังต้องการกำไรอีก อีกทั้งผู้ประสบภัยจากรถพบปัญหามากมายในการเบิกเงิน จนต้องเบิกจากสิทธิอื่นๆ ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม จาก พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ทางบริษัทเอกชนรับไปกว่าร้อยละ 40

"หากยังให้บริษัทเอกชนมาบริหารงบประมาณการรักษาพยาบาลของข้าราชการอีก การเบิกจ่ายคงมีปัญหาเช่นเดียวกัน งบประมาณกองทุนสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการประมาณ 7 หมื่นกว่าล้านบาท หากคิดค่าบริหารจัดการให้ธุรกิจ ประกันภัย คิดขั้นต่ำร้อยละ 10 หรือประมาณ 7,200 ล้านบาท งบส่วนนี้แทนที่จะถูกส่งไป รพ.รัฐ ซึ่งเป็นงบหมุนเวียนกันอยู่ กลับต้องไปที่เอกชน หากถูกคิดค่าบริหารจัดการถึงร้อยละ 40 เงินจะหายจากระบบเท่าไร แน่นอนว่า รพ.รัฐต้องประสบปัญหาแน่ๆ ยิ่ง รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องอยู่แล้ว ดังนั้นเราต้องช่วยกันปิดกั้น อย่าให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น การบอกว่าผ่านการประชุมแล้ว พร้อมเสนอ ครม. ไม่ถูกต้อง ที่กลัวคือ กลัวจะใช้มาตรา 44 ออกกฎหมาย หวังว่าจะไม่เกิดขึ้น"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการทำหนังสือทักท้วงหรือไม่ กล่าวว่า ทางที่ดีที่สุด ข้าราชการที่มีสิทธิ รวมทั้ง รพ.โดยเฉพาะ รพ.สธ. รวมทั้งระบบสุขภาพอื่นๆ ต้องลุกมาต่อต้าน หากยอม เกิดปัญหาแน่ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเกิดจากความบกพร่องของการบริหารจัดการ ของกรมบัญชีกลาง ที่ไม่มีระบบตรวจสอบการให้สิทธิและการบริการสิทธิประโยชน์เลย เมื่อเกิดปัญหา มีค่าบริหารจัดการ กลับแก้ไขโดยการโยนให้เอกชนทำ

อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหามาจากงบประมาณพุ่งสูง ทำให้ต้องโยนให้ธุรกิจ ประกันภัย ไปดำเนินการ ต้องถามว่าเกาถูกที่คันแล้วหรือไม่ สิ่งสำคัญของปัญหาสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ ต้องไปดูต้นเหตุว่ามาจากอะไร ยกตัวอย่าง กรมบัญชีกลางเคยเรียกเงินคืนจาก รพ.แห่งหนึ่ง เพราะพบว่าสั่งจ่ายยาให้คนไข้มากเกินความจำเป็น เป็นยานอกบัญชียาหลัก ราคาแพง กรมบัญชีกลางสามารถตรวจสอบบัญชีการใช้ยาต่างๆ ให้เหมาะสมได้ ทางออกคือ วิเคราะห์ปัญหา และให้ข้าราชการ สถาบันวิชาการ รวมทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มาร่วมกันศึกษาว่าจะหาทางออกกันอย่างไร

อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอเรื่องดังกล่าว โดยไม่สอบถามความคิดเห็นจากข้าราชการผู้มีสิทธิ ซึ่งปัญหาการใช้จ่ายยาไม่สมเหตุสมผลของสิทธิข้าราชการนั้น จะพบปัญหาที่ผู้ป่วยนอก เพราะผู้ป่วยในจะมีการควบคุมการใช้จ่ายยาตามกลุ่มโรค หรือดีอาร์จี ทั้งนี้เคยมีข้อเสนอบันได 8 ขั้นแก้ปัญหา อาทิ กรมบัญชีกลางประกาศใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล โดยกำหนดให้มีการส่งเหตุผลการใช้ยาเยอะ ใน รพ.ที่ใช้ยาเกินกำหนด การกำหนดให้ทุก รพ.ใช้ยาชื่อสามัญแทนยาต้นแบบ เป็นต้น ดังนั้น กรมบัญชีกลาง ต้องปรับปรุงระบบสิทธิประโยชน์ให้สมเหตุสมผล และควรแยกหน่วยงานอิสระ ในการติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ หากไม่สามารถทำได้ ก็อาจให้ สปสช. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หรือให้หน่วยอิสระกลางแห่งใดมาทำก็ได้ ทั้งนี้ ค่าบริหารจัดการ หากเป็นภาครัฐ อย่าง สปสช. คิดค่าบริหารจัดการเพียงประมาณ 1% แต่เอกชนน่าจะเกิน 25%

อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ตนเคยทำงานที่ สคบ. พบการร้องเรียนมากมาย ทั้งเรื่องการประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งนี้ข้าราชการไทยส่วนมากไม่ได้มีฐานะร่ำรวย และปัจจุบันสิทธิข้าราชการลดน้อยลง ไม่สามารถเบิกยาบางตัวได้ หากให้ธุรกิจเอกชนบริหาร จะกระทบต่อผู้มีสิทธิในการเบิกจ่าย ควรให้ข้าราชการบริหารระบบ ไม่ใช่เอื้อประโยชน์แก่เอกชน อย่างไรก็ตาม หากมอบให้ สปสช.เป็นผู้บริหารมีข้อได้เปรียบ เพราะบุคลากรมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการระบบ

ที่มา : อาร์วายทีไนน์