ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ดาวเด่น-ดาวร่วง ประกันภัย ประกันภัยรถยนต์มาแรง

ประกันภัยรถยนต์จากรถยนต์กลุ่มซิตีคาร์ รอการส่งมอบกว่า 4.5 แสนคัน คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์อีกไม่ต่ำกว่า 6.75 -7 พันล้านบาท รวมกับการต่ออายุ

ดาวเด่น-ดาวร่วง ประกันภัย ประกันภัยรถยนต์มาแรง

มกราคม
8

จากตัวเลขผู้ขอใช้สิทธิ์ในโครงการรถยนต์คันแรกที่เริ่มตั้งแต่ปี 2554 สรุปยอดตัวเลขอยู่ที่ ประมาณ 1.2 ล้านคัน โดยเป็นรถยนต์ที่ส่งมอบไปแล้ว 7.5 แสนคัน และจะทยอยส่งมอบให้เสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยมีรถราว 4.5 แสนคันที่รอการส่งมอบ ซึ่งปริมาณรถยนต์ที่รอส่งมอบนั้นคาดว่าจะส่งผลโดยตรงทำให้ยอดสั่งซื้อปี 2556 โดยจากการประเมินความต้องการของผู้ซื้อรายใหม่ของปีนี้จะอยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านคัน ซึ่งหดตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2555 ที่มียอดขายมากกว่า 1.4 ล้านคัน

นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ทางด้านต่างๆ เอง ก็กำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ตามทำเลที่เป็นแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้า ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงก็รุมเร้าทั้งจากภายในและนอกประเทศ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ที่ปัจจุบันเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ ดังนั้น ธุรกิจทางด้านการประกันภัยจึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าติดตาม

ประกันภัยรถยนต์รุ่ง

ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าว เจาะประเด็นถึงกลุ่มธุรกิจประกันภัย ดาวเด่นที่จะมาแรงในปี 2556 จากนายกสมาคมประกันวินาศภัย ซึ่งเป็นผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุด โดยได้ระบุว่าเป็นประกันภัยรถยนต์ จากการประเมินธุรกิจประกันวินาศภัย 4 กลุ่ม ประกอบไปด้วย 1.ประกันอัคคีภัย และประกันภัยทรัพย์สิน, 2.การประกันภัยรถยนต์, 3.การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และ 4.การประกันภัยเบ็ดเตล็ด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีอัตราการเติบโตไม่เท่าปี 2555 ที่ผ่านมา แต่ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ชั้น1) มีอัตราการเติบโตสูง เช่นเดียวกับเบี้ยประกันภัยรถยนต์ต่ออายุปีที่ 2 ที่จะเข้ามาเป็นปัจจัยกระตุ้นตลาด หลังส่งมอบรถยนต์จากนโยบายรถคันแรกได้หมด โดยคาดว่าปี 2556 จะมีเบี้ยประกันภัยรถยนต์เกิดขึ้นจากรถขนาดเล็กไม่เกิน 1500 ซีซี ในกลุ่มซิตีคาร์ หรือบีคาร์ ที่รอการส่งมอบกว่า 4.5 แสนคัน หรือคิดเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์เข้าสู่ระบบอีกไม่ต่ำกว่า 6.75 -7 พันล้านบาท ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้

รองลงมาจะเป็นการทำประกันภัยเบ็ดเตล็ด โดยเฉพาะประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Acident : PA) ที่มีอัตราการเติบโตสูง โดยขยายตัวตามรายได้ของประชากร จากเดิมที่มีการซื้อประกันภัย PA ต่อหัวอยู่ที่ 200-500 บาทต่อเดือน ก็มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้นใกล้เคียง 1,000 บาทต่อเดือน อีกทั้งยังมีโอกาสปรับขึ้นตามสัดส่วนอายุของผู้ที่ทำประกันภัยนี้เช่นกัน เนื่องจากอัตราเบี้ยผูกพันกับอายุ

เมื่อกล่าวถึงประกันภัยดาวเด่นไปแล้ว จะกล่าวถึงประกันภัยที่คาดว่าจะเติบโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรืออาจมองว่าเป็นประกันภัยดาวร่วงปี 2556 โดยระบุว่า มีโอกาสที่จะเป็นประกันภัยทางทะเลและขนส่ง หรือมารีน (Marine) เนื่องจากภาคธุรกิจส่งออกได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง จากวิกฤติสหรัฐฯ และยุโรป ต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีจึงจะสามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างมาก และน่าจะทำให้ประกันภัยดังกล่าวขยายตัวไม่ถึง 2 หลัก หรือต่ำกว่า 10%

"มีบางแนวคิดที่มองถึงอัตราการขยายตัวของมารีน ในปี 2556 ว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนจากการส่งมอบเครื่องจักรที่มาจากภาคอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดดังกล่าวนี้ไม่ถือว่าเป็นตัวหนุนให้ประกันภัยมารีนขยายตัวในช่วงแรก เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะการทำประกันภัยมารีนสำหรับการขนส่งทางทะเลนั้น ต้องทำจากต้นทาง ขณะที่ชิ้นส่วนเครื่องจักรถูกส่งมาจากต่างประเทศ ดังนั้นอัตราการเติบโตจึงไปกระจุกตัวกับประกันภัยต้นทาง แทนที่จะส่งผลดีต่อมารีนที่รับประกันภัยโดยบริษัทในประเทศไทย แต่หากเครื่องจักรได้รับการติดตั้งแล้ว จะส่งผลดีต่อภาคการผลิต เพราะจะทำให้เกิดการไหลเวียนของวัตถุดิบ ที่นำสู่การผลิตเพื่อส่งออก ทำให้ประกันภัยมารีนเห็นผลเชิงบวกในครึ่งปีหลัง"

ประกันสรรพภัยส่อร่วง

นอกจากนี้ ยังมีอีกกลุ่มที่ส่อเค้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือ การประกันสรรพภัย หรือ การประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด (Industrail All Risk Insur- ance: IAR) แม้ปี 2555 จะมีอัตราการเติบโตสูง แต่อัตราการเติบโตดังกล่าวมาจากภาวะจำยอม จากการขึ้นเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้นเฉลี่ย 30-40% หลังเกิดเหตุมหาอุทกภัย แต่ในปี 2556 เหตุการณ์และความตกใจเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ยิ่งไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยเป็นปีที่ 2 ขณะที่กุญแจดอกสำคัญอย่าง 7 นิคมอุตสาหกรรม เร่งสร้างระบบป้องกันน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนรอบนิคมตั้งแต่ 6 เมตรขึ้นไป ก็ยิ่งทำให้ความมั่นใจของนิคมฟื้นตัว จึงส่งผลโดยตรงว่า เหตุใดทิศทางการทำประกันภัยทรัพย์สิน หรือ IAR รวมถึงประกันภัยที่คุ้มครองน้ำท่วมในปี 2556 จะมีอัตราลดลง

"สิ่งที่กล่าวมานับว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากความมั่นใจ อาจทำให้หลายหน่วยงานไม่ระมัดระวัง ส่วนระบบที่นำมาป้องกัน อาจไม่ได้ทดสอบความพร้อมอยู่ตลอด ที่สำคัญการป้องกันพื้นที่นิคมด้วยกำแพงสูงนั้น หากระบบบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดีแล้ว ก็อาจสร้างความเสียหายแก่พื้นที่รอบๆ ขณะที่ปัญหาอีกเรื่องคือ การไม่ใส่ใจที่จะทำประกันภัยอย่างจริงจัง เห็นได้ชัดหลังจากเกิดมหาอุทกภัยปี 2554 ความต้องการซื้อสูงมาก แต่เมื่อผ่านไป ระยะความต้องการซื้อประกันภัยกลับหายไป"

ประกันภัยที่อยู่อาศัยยังน่าสนใจ

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันว่า ประกันภัยรถยนต์จะยังคงมาแรงอยู่ในปี 2256 ถึงแม้ว่าจะโตต่ำกว่าปี 2555 แต่ก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีสิทธิ์โตได้ถึง 20% จากรถยนต์คันแรกที่ส่งมอบจริง และปริมาณรถยนต์ที่สั่งซื้อภายในประเทศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์รวมทั้งระบบไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยยังไม่รวมประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ซึ่งเมื่อรวมกับเม็ดเงินที่โตจากการต่ออายุรถปี 2 คาดว่าจะมีเม็ดเงินทั้งระบบมากกว่า 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ตลาดประกันภัยบ้านและที่อยู่อาศัย ก็ยังน่าสนใจ และสามารถทำกำไรได้เช่นกัน ซึ่งอยู่ในกลุ่มประกันภัยเบ็ดเตล็ด ประกันสรรพภัย และประกันไฟ (fire) ที่อัตราการเติบโตยังคงต่อเนื่อง คู่กับการเติบโตของการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่านธนาคาร โดยส่วนใหญ่จะมีการระบุว่า ต้องทำประกันภัยในสัญญาการอนุมัติสินเชื่อเหล่านี้อยู่แล้ว อัตราการขยายตัวจึงค่อนข้างคงที่ และอาจมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่อาจจะไม่สูงเหมือนประกันภัยรถยนต์

ประกันวินาศภัยโตสูงเกิน 20%

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ได้ประเมินอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยปี 2556 ว่า จะมีอัตราการเติบโตสูงเกิน 20% มีมูลค่าเบี้ยประกันภัยกว่า 2 แสนล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นกว่า 3 หมื่นล้านบาท จากเบี้ยประกันภัยปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท แยกย่อยออกเป็น ประกันอัคคีภัยเติบโต 1 หมื่นล้านบาท ประกันภัยทางทะเลและขนส่งมีเบี้ย 5 พันล้านบาท, ประกันภัยรถยนต์ 1.1-1.3 แสนล้านบาท และประกันภัยเบ็ดเตล็ด 7.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับอัตราการขยายตัวของประกันวินาศภัย ปี 2555 ที่ผ่านมาใน 4 กลุ่มหลัก มีอัตราเบี้ยประกันภัยใกล้เคียง 1.7 แสนล้านบาท โดยประกันอัคคีภัย ขยายตัวกว่า 22% มีเบี้ยสูงสุด 1 หมื่นล้านบาท ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 6 พันล้านบาท ขยายตัว 10% ประกันภัยรถยนต์ 1 แสนล้านบาท ขยายตัว 27% ประกันภัยเบ็ดเตล็ด 5.5 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 29-30%

บทสรุปสุดท้ายของดาวเด่นและดาวร่วงของธุรกิจประกันภัย จะเป็นไปตามที่ผู้เชี่ยวชาญได้มีการวิเคราะห์ไว้หรือไม่ หรือจะมีประกันภัยรูปแบบใหม่ๆ ออกมาเป็นดาวรุ่งก็มีความเป็นไปได้ ปลายทางแห่งปี 2556 เท่านั้นจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ