ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัยโรคร้ายทะลัก ขานรับคปภ.เคาะกรมธรรม์มาตรฐาน

กำหนดนิยาม “โรคร้ายแรง” เพื่อให้เป็นมาตรฐานของธุรกิจประกันภัย เพื่อนำไปปรับปรุงออกสินค้าใหม่สู่ตลาด

ประกันภัยโรคร้าย ทะลักขานรับคปภ.เคาะกรมธรรม์มาตรฐาน

ตุลาคม
9

บริษัทประกันภัยกำลังใจจดใจจ่อกับ นิยาม "โรคร้ายแรง" มาตรฐานที่ผ่านการปรับปรุง และเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วเมื่อกรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งหากว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อนุมัติในช่วงนี้ ก็จะทันกับการออกสินค้าใหม่เพื่อทำตลาดช่วงปลายปี โดยคาดว่าจะเป็นสินค้าที่สร้างสีสันให้ตลาดคึกคัก และเสริมยอดขายให้เข้าเป้าได้

ทั้งนี้ คปภ.เป็นแม่งานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัย และแพทยสภา เริ่มดำเนินการกำหนดนิยาม “โรคร้ายแรง” เพื่อให้เป็นมาตรฐานของธุรกิจประกันภัยมาตั้งแต่ปี 2553 แต่เพิ่งแล้วเสร็จและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจเมื่อไม่นานนี้

รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า คาดว่าไม่เกิน 1 เดือนหลังจากนี้ทางคปภ.น่าจะอนุมัติใช้แล้ว เพื่อให้บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยได้นำไปปรับปรุง เพื่อออกสินค้าใหม่สู่ตลาด ทั้งนี้นิยามโรคร้ายแรงมาตรฐาน จะครอบคลุมโรคร้ายแรงทั้งหมด 50 โรค อาทิ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายครั้งแรกจากการขาดเลือด, ความบกพร่องทางระบบประสาท อันเนื่องมาจากความผิดปกติทางหลอดเลือด, การผ่าตัดเส้นเลือดกล้ามเนื้อหัวใจ, ไตวาย, อัมพาต, โปลิโอ, โรคกล้ามเนื้อเสื่อม, มะเร็ง, การปลูกถ่ายอวัยวะ, โรคปอดระยะสุดท้าย, การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ, ตับวาย เป็นต้น ซึ่งต่อไปจะใช้คำจำกัดความเป็นมาตรฐานเดียวกันหมด แต่หากบริษัทประกันภัยแห่งใด จะขอแบบประกันภัยโรคร้ายแรงที่แตกต่างไปจากนี้ก็ยังสามารถทำได้ แต่ต้องยื่นกับทางคปภ. เป็นรายบริษัทไป

“การที่สามารถผลักดันมาตรฐานโรคร้ายแรงออกมาได้ จะส่งผลดีกับผู้บริโภค โดยเฉพาะในเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจะมีมาตรฐานมากขึ้น จากเดิมที่อาจจะมีปัญหาเรื่องการตีความเกี่ยวกับคำว่าโรคร้ายแรง ซึ่งบริษัทประกันภัยแต่ละแห่งตีความไม่เหมือนกัน”

ขณะเดียวกันในแง่ของบริษัทประกันภัย จะสามารถขยายตลาดได้มากขึ้น เนื่องจากเรื่องโรคร้ายแรงประชาชนให้ความสนใจอยู่แล้ว เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลสูง เชื่อว่าในระยะยาวประชาชนจะยิ่งให้ความสนใจมากขึ้น และจะเป็นแบบประกันภัยที่น่าจะกระตุ้นตลาดประกันภัยได้มาก

“เมื่อแบบมาตรฐานออกมา จะทำให้ช่วงไตรมาสสุดท้ายบริษัทประกันภัยต่างๆ จะยื่นขออนุมัติแบบประกันภัยโรคร้ายแรงเข้ามามากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้อาจจะชะลอไป เพราะต้องรอดูแบบมาตรฐานที่จะออกมาก่อน คาดว่าจะเป็นแบบประกันภัยที่สร้างสีสัน และมีผลต่อเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันภัยในช่วงไตรมาสสุดท้าย”

ขณะที่ตลาดประกันภัยในช่วงนี้ ดูเหมือนว่าแผนคุ้มครองโรคร้ายแรงจะเริ่มออกมาขายมากขึ้น เช่น แผนประกันสำเร็จรูป “รู้ใจ” คุ้มครองจากโรคร้ายแรง 32 โรคร้าย หรือจะเป็นแผน “คอมพลีท เฮลท์ โซลูชั่น” คุ้มครองโรคร้ายแรงทุกโรค เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ของ บมจ.กรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต, แผนคุ้มครองมะเร็งสำหรับผู้ชาย (Guy We Care) แผนคุ้มครองโรคมะเร็งสำหรับผู้หญิง (Lady We Care) และแผน “มะเร็งรีฟันด์” ของบมจ.ไทยประกันชีวิต และแบบประกันสุขภาพ “ใจป้ำ” ของบมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ ที่เพิ่มความคุ้มครองโรคร้ายแรง 6 โรคยอดฮิตเป็น 2 เท่า เป็นต้น ดังนั้น เชื่อว่าหากคปภ.อนุมัติใช้นิยามโรคร้ายแรงใหม่ ก็จะยิ่งทำให้มีสินค้าคุ้มครองโรคร้ายแรงออกสู่ตลาดมากขึ้นอย่างแน่นอน

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ให้ความเห็นว่า บริษัทกำลังอยู่ระหว่างศึกษาการออกแผนคุ้มครองโรคร้ายแรงตัวใหม่ โดยดูจากนิยามโรคร้ายแรงมาตรฐานที่คปภ.กำลังจะอนุมัติใช้ ซึ่งจะเป็นอีกตัวหนึ่งที่จะช่วยเสริมการทำตลาดช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้

ขณะที่กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองโรคร้ายแรง เป็นแผนประกันภัยที่ทำกำไรให้กับบริษัทประกันภัยมาตลอด เพราะอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ไม่สูงแค่ 40-50% “โรคร้ายแรงความถี่ที่จะเกิดน้อย เป็นตัวที่ทำกำไร และจูงใจให้ลูกค้าซื้อได้ง่าย ดังนั้นการออกแผนคุ้มครองโรคร้ายแรง นอกจากจะทำให้มีสินค้าหลากหลาย ทำให้ขายได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับตัวแทนได้ด้วย ซึ่งเราพบว่าลูกค้าของเราที่ซื้อประกันชีวิตประเภทสามัญ 50% ของลูกค้ากลุ่มนี้ จะซื้อสัญญาเพิ่มเติมประกันภัยสุขภาพ ซึ่งก็รวมถึงความคุ้มครองโรคร้ายแรง และประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (ประกันพีเอ) ด้วย”

ที่มา : สยามธุรกิจ