ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัยโลกหันหัวกลับไทย 'มาร์ช-เอออน' คว้าเค้กกองทุนภัยพิบัติ 5 หมื่นล้าน

บอร์ดกองทุนฯ คัด"มาร์ช-เอออน" ให้บริหารซื้อประกันภัยต่อ เงื่อนไขร่วมแชร์ความเสี่ยง เตือนอย่าหวังสูงเบี้ยยังไม่ลดในเวลารวดเร็ว

ประกันภัยโลกหันหัวกลับไทย 'มาร์ช-เอออน' คว้าเค้กกองทุนภัยพิบัติ 5 หมื่นล้าน

กันยายน
11

ประธานคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ได้สรุปผลการประชุมใน 2 เรื่องประกอบด้วย 1.การคัดเลือกรายชื่อบริษัทนายหน้าประกันภัยต่างชาติ (โบรกเกอร์ รีอินชัวเรอร์) 2 ใน 3 ราย เพื่อเข้ามาบริหารจัดการเกี่ยวกับการซื้อประกันภัยต่อแล้ว จากเดิมที่มีผู้เสนอตัวเข้ามากว่า 10 ราย และ2.ที่ประชุมยังได้มีมติให้ปรับลดการจำกัดวงเงินความรับผิดสูงสุดต่อภัย หรือซับ ลิมิต จาก 30 % เป็นไม่ต้องมีซับลิมิต

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจคัดเลือก 2 ใน 3 บริษัทโบรกเกอร์รีอินชัวเรอร์นั้น ทางบอร์ดกองทุนให้โจทย์สำคัญ คือ ต้องเป็นนายหน้าที่มีความชำนาญในธุรกิจประกันภัยต่อระดับสากล โดยต้องหาซื้อภัยพิบัติจากบริษัทรับประกันภัยต่อจากต่างประเทศได้ทัน รวมถึงเสนอแผนบริหารความเสี่ยงสำหรับกองทุนประกันภัยพิบัติ ว่าช่วงไหนกองทุนสมควรซื้อ โดยเฉพาะทุนประกันภัยและมูลค่าเบี้ยประกันภัยจะต้องไม่เพิ่มภาระให้กับกองทุน แม้จะมีผู้ซื้อประกันภัยสนใจซื้อเข้ามามากหรือน้อย และอัตราเบี้ยต้องไม่สูงหรือเกินกว่า 3-5%

"โจทย์สำคัญที่เราเลือก 2 บริษัทโบรกเกอร์นี้ เป็นเพราะความน่าเชื่อถือในตลาดระดับโลก แม้ตอนแรกเราจะเลือกจาก 3 บริษัท ซึ่งทั้ง 3 บริษัท ก็มีความชำนาญจากการทำธุรกิจในตลาดประเทศไทยและระดับโลก มาเป็นเวลาหลายสิบปี อีกทั้งยังเป็นอันดับ 1-3 ของโลกอีกด้วย ข้อดีของการมี 2 โบรกเกอร์ จะช่วยให้การกระจายภัยทำได้อย่างสมบูรณ์ หากบริษัทใดติดต่อเบี้ยประกันภัยต่อได้ต่ำกว่าอีกบริษัท หรือได้รับข้อเสนอที่ดีกว่า ก็จะเลือกการทำประกันภัยต่อจากฝ่ายนั้นแทน"

กล่าวต่ออีกว่า ขั้นตอนต่อไปหลังจากได้ 2 บริษัทโบรกเกอร์แล้ว คาดใช้เวลาประมาณ 7 วัน เพื่อเตรียมเอกสารต่อรองซื้อประกันภัยต่อทันที โดยแนวทางการซื้อ ช่วงเวลาจะยึดตามแนวทางและความเหมาะสมจาก 2 บริษัทโบรกเกอร์เป็นสำคัญ ส่วนกรณีการปรับลดโดยไม่ต้องมีซับลิมิตนั้น น่าจะช่วยกระตุ้นให้เอสเอ็มอีและโรงงานขนาดใหญ่ สนใจซื้อประกันภัยมากขึ้น

ด้านผู้อำนวยการสำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการกองทุนประกันภัยพิบัติ เปิดเผยว่า หลังคณะกรรมการกองทุน พิจารณาหลักการ และตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว ได้คัดเลือกบริษัทนายหน้าประกันภัยต่อ (โบรกเกอร์รีอินชัวเรอร์) เหลือเพียง 2 ราย ได้แก่ มาร์ช และเอออน ที่มีคุณสมบัติเด่นใกล้เคียงกัน และมีความเชี่ยวชาญการรับประกันภัยต่ออย่างดี

โดยขั้นตอนของคณะกรรมการนั้น จะต้องพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละบริษัทเพิ่มเติมก่อน รวมถึงต้องเจรจากับทั้งสองบริษัทว่า สามารถร่วมกันรับความเสี่ยงภัยทั้งกองทุนรายละ 50:50 ตามเจตนารมณ์ของกองทุนได้หรือไม่ และเท่าที่ได้หารือทั้งสองบริษัทให้ความเชื่อมั่นว่า น่าจะทำงานร่วมกันได้แน่นอน แม้ว่าจะเป็นรายใหญ่ระดับโลกเหมือนกัน จึงให้ทั้งสองบริษัทกลับไปทำการบ้านอีกครั้ง

การประชุมคณะกรรมการครั้งต่อไปในวันที่ 18 กันยายน ที่กระทรวงการคลัง ถ้าตกลงรับประกันภัยต่อร่วมกันได้ จากนั้นสิ่งแรกที่ทั้งสองบริษัทจะดำเนินการคือ การเข้ามาประเมินมูลค่าความเสี่ยงของกองทุนอย่างละเอียด และสรุปรูปแบบแนวทางประกันภัยต่อ และอัตราเบี้ยประกันที่เป็นแนวทางเดียวกัน รวมถึงการลงนามข้อตกลง 1 ปี โดยคาดว่ากองทุนจะเริ่มกระบวนการซื้อประกันภัยต่อ อย่างเร็วที่สุดในอีก 1 เดือน หรือภายในเดือนตุลาคมนี้ได้ทันที

ทั้งนี้บริษัท มาร์ชโบรกเกอร์ฯ เป็นบริษัทนายหน้าประกันภัย และการบริหารความเสี่ยงชั้นนำของโลก ส่วนบริษัท เอออน เบนฟิลด์ฯ เป็นบริษัทนายหน้าประกันภัยใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ขณะที่บริษัทวิลลิส รีอินชัวเรอร์ฯ ซึ่งไม่ผ่านการประเมินนั้น ก็เป็นบริษัทนายหน้าประกันภัยต่อชั้นนำของโลกในกลุ่ม วิลลิสกรุ๊ปโฮลดิ้ง ล้วนแต่เป็นธุรกิจสัญชาติอเมริกา ส่วนบริษัทสวิสรีฯ บริษัทมิวนิครีฯ และลอยด์ ออฟ ลอนดอน กลุ่มบริษัทประกันภัยต่อจากยุโรปที่ถูกจับตาว่าจะได้รับเลือกในช่วงแรกนั้น ไม่เข้าเกณฑ์ เนื่องจากคราวนี้มุ่งเน้นบริษัทนายหน้าประกันภัยต่อมากกว่า

สำหรับโมเดลอัตราเบี้ยประกันภัยต่อที่หารือเบื้องต้นนั้น มองว่าหากกองทุนเข้ามารับประกันภัยความเสี่ยง ที่ความเสียหายในส่วนทุนประกันภัย 10,000 ล้านบาทแรก และในส่วนทุนประกันภัยตั้งแต่ 10,000 ล้านบาทขึ้นไป จากวงเงินทุนประเดิมกองทุนที่มีอยู่ 5 หมื่นล้านบาท โดยให้ทั้งสองโบรกเกอร์ประกันภัยต่อ ร่วมกันรับความเสี่ยงอัตราเบี้ยจะอยู่ที่ 2 % แต่หากให้ทั้งสองโบรกเกอร์ประกันภัยต่อ ร่วมกันรับความเสี่ยงภายใต้กองทุนเองทั้งหมด คาดว่าอัตราเบี้ยจะขยับมาอยู่ที่ 6-7% ซึ่งต้องให้คณะกรรมการกองทุนฯ หาข้อสรุปร่วมกันต่อไป

"ยอมรับว่ากองทุน เพิ่งเริ่มทำประกันภัยต่อปีแรก จึงยังไม่แน่ใจว่าใครจะทำได้ดีที่สุด หรือเหมาะสมกับกองทุนมากที่สุด เบื้องต้นจึงต้องการให้ทั้งสองบริษัทร่วมกันรับความเสี่ยงในปีแรก อยากเห็นฝีมือผลงานบริหารความเสี่ยงของทั้งคู่ก่อน หากผลงานออกมาดี ปีหน้าอาจฟันธงคัดเลือกเหลือรายเดียว เพื่อให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น หรือหากทั้งทำงานได้ดีทั้งคู่ก็จะคงไว้เช่นกัน"

ด้านรองประธานบริหาร บริษัท เอออน (ประเทศไทย) จำกัด มั่นใจว่า เอออน เป็น 1 ใน 2 บริษัท ที่ทางคระกรรมการกองทุนฯ คัดเลือกให้เข้ามาบริหารการซื้อประกันภัยต่อ จากบริษัท รี อินชัวเรอร์ในต่างประเทศให้กับกองทุนแน่นอน เพราะที่ผ่านมาเอออนมีความพร้อมเรื่องข้อมูล การวิเคราะห์ การวางระบบ โดยเฉพาะโมเดลระวังภัยน้ำท่วม อัตราเบี้ยระกันภัย

"ในฐานะที่เป็นบริษัทโบรกเกอร์ เริ่มมองเห็นทิศทางประกันภัยของไทยเป็นบวกมากขึ้น โดยเฉพาะรี อินชัวเรอร์ เริ่มส่งสัญญาณเชิงบวก เริ่มคลายวังวลเรื่องน้ำท่วม ประกอบกับบางพื้นที่ประสบภัยแล้ง มาตรการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล ทำให้รีอินชัวเรอร์เริ่มกลับมาทำตลาดในไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรีอินชัวเรอร์ในตลาดลอยด์ก็เริ่มเข้ามาแล้ว"

ต่อข้อถามถึงกลุ่มอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอี ที่ยังตอบสนองการซื้อประกันภัยต่ำนั้น กล่าวว่า สาเหตุที่ผ่านมากองทุนประกันภัยพิบัติ ไม่ได้รับการตอบสนองจากกลุ่มเอสเอ็มอีและโรงงานขนาดใหญ่ น่าจะมาจากอัตราเบี้ยประกันภัยของกองทุนที่ถือว่าแพงกว่าตลาดมาก โดยคิดอัตราเบี้ยกลุ่มเอสเอ็มอีที่ 1% แต่ไม่มีทางเลือก เพราะหาซื้อประกันภัยจากรีอินชัวเรอร์ต่างประเทศไม่ได้ เพราะเอสเอ็มอีเป็นรายเล็ก ทุนประกันภัยจึงไม่สูงพอที่รีอินชัวเรอร์จะรับได้ ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ที่ 1.25% ถือเป็นอัตราที่แพง เมื่อเทียบกับความคุ้มครองที่ต่ำกว่ารีอินชัวเรอร์ต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดอัตราเบี้ยรับประกันภัยในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ได้ปรับลดลงแล้ว เป็นอัตราที่ถูกมาก คือ ต่ำกว่ากองทุน 30-40 % หรือคิดที่อัตรา 0.75-0.97 % ซึ่งยังมีโอกาสจะลดลงในทิศทางเดียวกับหลายนิคม ขึ้นอยู่กับมาตรการป้องกันตัวเองจากน้ำ

อุปนายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า การที่บอร์ดกองทุนประกันภัยพิบัติ พิจารณาคัดเลือกทั้ง 2 บริษัทนายหน้า หรือโบรกเกอร์ รีอินชัวเรอร์ จะเป็นส่วนเสริมให้ระบบประกันภัยของไทยเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องตัดซับ ลิมิตออกไป ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อธุรกิจประกันภัย

ด้านกรรมการบริษัท ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแต่งตั้ง 2 บริษัทโบรกเกอร์-รีอินชัวเรอร์ เหมือนมีตัวแทนที่มีน้ำหนักในการเจรจาค่าเบี้ยที่เหมาะสม แต่ส่วนตัวไม่คิดว่าจะช่วยทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยต่อปรับลดลงได้รวดเร็ว เพราะการปรับลดเบี้ยต้องอาศัยเวลาไม่ใช่เพียงปีเดียว แล้วยังขึ้นกับอยู่กับมาตรการป้องกันภัยน้ำท่วม ทั้งของรัฐและเอกชนที่จะพื้นความมั่นใจด้วย ช่วยทำให้เบี้ยปรับลดลง 50 % จาก 5-7 % อาจเป็นไปได้ แต่จะให้ต่ำกว่า 1% นั้นคงยาก

ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็นโอเค พรีซิชั่น คอมโพเน้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่เป็นพลาสติก ตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า บริษัทก็เป็นหนึ่งในจำนวน 80 โรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมดังกล่าวที่ถูกน้ำท่วม และขณะนี้ก็กลับมาเดินการผลิตได้แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ทำประกันอุทกภัยโดยตรง เนื่องจากบริษัทประกันภัยหลายรายเปิดวงเงินจำกัดที่ 30 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดร่วม 2 พันล้านบาท เนื่องจากบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศ ไม่กล้ารับประกันในวงเงินที่สูงกว่านี้

"บริษัทไม่ได้ทำประกันภัยเรื่องน้ำท่วมโดยตรง เพราะดูแล้วไม่คุ้ม ก่อนหน้าที่น้ำจะท่วมบริษัทต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยรวมน้ำท่วมต่อปี ประมาณ 1 ล้านบาท จากทุนประกันภัยทรัพย์สินทั้งหมดประมาณ 1.6 พันล้านบาท และหลังน้ำท่วมถ้าผมยังยึดที่ทุนประกันภัยเท่าเดิม ผมต้องแยกจ่ายเบี้ยประกันภัย ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรมธรรม์ คือ 1. เป็นกรมธรรม์ที่เหมือนของเดิม แต่ตัดการคุ้มครองความเสี่ยงน้ำท่วมออกไป ในอัตราค่าเบี้ยประกันที่สูงขึ้นเป็น 4 ล้านบาทต่อปี และ 2 กรมธรรม์ส่วนที่คุ้มครองเฉพาะน้ำท่วมที่จำกัดวงเงินอยู่ที่ไม่เกิน 30 ล้านบาท ซึ่งมีค่าเบี้ยประกันภัย 5 แสนบาทต่อปี ดังนั้นบริษัทผมจึงเลือกทำเฉพาะกรมธรรม์แรกเพียงกรมธรรม์เดียว และบริษัทแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยการย้ายเครื่องจักรขึ้นไปผลิตที่ชั้น 2 ของตัวอาคาร เพียงแค่ใส่เงินลงทุนเพิ่มอีก 200-300 ล้านบาท แต่เป็นการแก้ปัญหาระยะยาวถาวร โดยไม่ต้องมานั่งจ่ายเบี้ยประกันภัยในอัตราที่สูงแบบนี้ต่อไปทุกปี"

ด้านกรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาสวนอุตสาหกรรมนวนคร หนึ่งใน 7 เขตประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมพื้นที่เมื่อปีที่แล้ว เปิดเผยว่า ส่วนที่ได้รับผลกระทบจะเป็นสวนอุตสาหกรรมนวนคร ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ที่มีขนาดพื้นที่ 6,500 ไร่ มีจำนวนโรงงานตั้งอยู่ 227 โรงงาน ใช้แรงงานในพื้นที่มากกว่า 1 แสนคน มีมูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 1.28 แสนล้านบาท ภายหลังจากที่มีการฟื้นฟู โดยสร้างกำแพงคอนกรีตป้องกันน้ำท่วม ก็ทำให้ลูกค้าในพื้นที่มีความมั่นใจยิ่งขึ้น ล่าสุดก็ได้เชิญบริษัทประกันภัย ทั้งบริษัทคนไทยและต่างชาติเข้ามายังพื้นที่ ดูระบบป้องกันน้ำที่เขตประกอบการลงทุน เพื่อที่บริษัทประกันภัยต่างๆ จะได้นำข้อมูลทั้งหมดที่เห็นไปเสนอยังสำนักงานใหญ่ทั้งในไทยและในต่างประเทศ จะได้มีการพิจารณาปรับเบี้ยประกันภัยให้ต่ำลง จากเดิมที่มีการคิดเบี้ยประกันอุทกภัยสูงในสัดส่วน 3-4% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ทำให้ลูกค้าในพื้นที่ไม่อยากทำประกันอุทกภัย ส่วนการประกันภัยอื่นๆ เช่น ประกันไฟไหม้ ทรัพย์สินอาคารเสียหายจากอุบัติเหตุ หรืออื่นๆ ก็ยังทำประกันภัยปกติอยู่เหมือนช่วงก่อนน้ำท่วม

"เมื่อก่อนเบี้ยประกันอุทกภัยจะต่ำมาก แต่พอมีปัญหาน้ำท่วม เบี้ยส่วนนี้กลับพุ่งสูงขึ้นทำให้ลูกค้าในพื้นที่ลังเล ตอนนี้ก็รอดูว่าบริษัทประกันภัยต่างชาติ เมื่อไปหารือกับบริษัทแม่ในต่างประเทศแล้ว จะปรับเบี้ยประกันอุทกภัยให้ต่ำลงมาในอัตราใดได้บ้าง จากที่มีการตั้งลิมิตและมีพรีเมียมสูง เพราะเวลานี้สวนอุตสาหกรรมนวนครมีการประกันความเสี่ยง โดยสร้างกำแพงคอนกรีตกันน้ำท่วมไว้แล้ว บริษัทประกันภัยต่างๆ ก็ไม่ควรมาคิดค่าเบี้ยประกันภัยกับลูกค้าในพื้นที่ดังกล่าวสูง ก็ควรจะปรับเบี้ยลงมาอีก

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ