ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ถก 3 บิ๊ก ประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอร์) เคาะเบี้ยประกันภัย

กองทุนประกันภัยพิบัตินัดถกยักษ์รีอินชัวเรอร์ เสนอแผนบริหารประกันภัยต่อทั้งระบบ ปิดความเสี่ยงภัยในการรับประกันภัยให้กับกองทุน ดึงเบี้ยในตลาดให้ถูกลง

ถก 3 บิ๊ก ประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอร์) เคาะเบี้ยประกันภัย

กันยายน
9

ผู้อำนวยการสำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกองทุนประกันภัยพิบัติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนฯ จะเปิดให้บริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศ 3 รายใหญ่ ได้แก่ บริษัท มิวริค รีฯ (ประเทศเยอรมันนี) บริษัท สวิสส์รีฯ (ประเทศสวิสต์เซอร์แลนด์) และ บริษัทลอยด์ส ซินดิเคต 1965 (ประเทศสิงคโปร์) ในเครือของ ลอยด์ส ออฟ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เข้ามาเสนอแผนบริหารประกันภัยต่อทั้งระบบ ซึ่งทั้งระบบคาดว่าทุนประกันภัยจะไม่ต่ำกว่า 3.3-3.5 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลให้เลือกซื้อตามความสมัครใจ หรือขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของทรัพย์สินเป็นหลัก จึงยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะซื้อกรมธรรม์มากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติพบว่า มียอดการซื้อกรมธรรม์เข้ามาเบื้องต้นบ้างแล้ว คิดเป็นภาคอุตสาหกรรม จำนวน 323 ฉบับ เบี้ยประกันภัยจำนวน 22.8 ล้านบาท ทุนประกันคุ้มครอง 1.9 พันล้านบาท ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 4.6 พันฉบับ คิดเป็นอัตราเบี้ยประกันภัยจำนวน 9.1 ล้านบาท ทุนประกันภัยคุ้มครอง 956.6 ล้านบาท ทั้งนี้ กองทุนประกันภัยพิบัติกำหนดประกาศยอดซื้อกรมธรรม์ทุกวันที่ 16 ของเดือน

" เรื่องการเจรจาต่อรองอัตราเบี้ยประกันภัยต่อนั้น คงต้องรอดูสัญญาณ หากต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล จะยิ่งทำให้กองทุนสามารถต่อรองเบี้ยประกันภัยต่อได้ต่ำกว่าปกติ จากปัจจุบันอยู่ที่ 3-5%โดยคณะกรรมการกองทุนฯ จะพิจารณาจากความเป็นไปได้ของเบี้ยประกันภัยต่อ และสัดส่วนการรับประกันภัยที่จะช่วยลดต้นทุน โดยยังเน้นใช้ประกันภัยต่อเพื่อปิดความเสี่ยงภัยในการรับประกันภัย กลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อมทั้งหมด เพราะมีการกระจายของความเสียหายน้อยกว่าบ้านที่อยู่อาศัย"

ในส่วนของประกันภัยที่อยู่อาศัยนั้น คาดว่าจะมีประชาชนภาคครัวเรือน ซื้อกรมธรรม์ประมาณ 8 แสนรายตามเป้าที่วางไว้ ขณะเดียวกันคาดว่าจะสามารถคัดเลือกผู้บริหารประกันภัยต่อของกองทุนได้ทันที เนื่องจากเป็นประกันภัยที่กองทุนสามารถดูแลความเสี่ยงได้อยู่แล้ว

ต่อข้อถามกรณีที่บริษัทประกันวินาศภัย เริ่มเข้ามาติดต่อขอนำภัยธรรมชาติบางประเภท เช่น ลมพายุ ที่มีความเสี่ยงลดลง เพื่อขอนำภัยกลับไปบริหารความเสี่ยงเองนั้น ยืนยันว่าตอนนี้กองทุนจะไม่พิจารณาปรับเงื่อนไขแน่นอน เพราะอยากให้ทุกอย่างนิ่ง ไม่อยากทำให้ลูกค้าเกิดความลังเลที่จะตัดสินใจ ซื้อประกันภัยภายใต้กองทุนในช่วงต่อกรมธรรม์ปลายปีนี้ ที่สำคัญในช่วงแรกกองทุนก็ต้องการบริหารให้มีกำไร และให้กองทุนเดินต่อไปได้

ดังนั้นจึงไม่ต้องการให้ระบบประกันภัยเอกชนเสียวินัย พอภัยไหนเกิดความเสียหายสูง ก็ผลักภาระมาให้กองทุนรับความเสี่ยง แต่พอความเสี่ยงลดลงก็จะเอากลับไปทำ การกลับไปกลับมาแบบนี้ไม่ส่งผลดี ต่อความน่าเชื่อถือของกองทุนด้วย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชื่อว่า หลังจากที่กรมธรรม์เดิมใกล้หมดอายุ ประชาชนจะหันมาให้ความสนใจ ซื้อกรมธรรม์จากกองทุนมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ซื้อกรมธรรม์ภายใต้กองทุนยังน้อย พร้อมกับย้ำว่าการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้มากขึ้น ในอัตราเบี้ยประกันภัยที่ถูกลง และให้ระบบประกันภัยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากในช่วงน้ำท่วมผู้ประกอบธุรกิจประกันภัย มีความกังวลว่าอาจต้องจ่ายค่าชดเชยค่าประกันภัยในวงเงินที่สูงขึ้นหากเกิดน้ำท่วมอีก จึงทำให้เบี้ยประกันภัยปรับตัวสูงขึ้น และมีบางบริษัทไม่รับประกันภัยต่อ เพราะกลัวความเสี่ยง

"ที่ผ่านมามีข้อสังเกตว่า ทำไมประชาชนสนใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัยจากกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติน้อย เนื่องจากกรมธรรม์เดิมยังไม่หมดอายุ เชื่อว่าหลังจากที่กรมธรรม์เดิมหมดอายุ ประชาชนจะหันมาให้ความสนใจซื้อกรมธรรม์จากกองทุนมากขึ้นแน่นอน"

ประธานคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ กล่าวว่า จากการหารือกับบริษัทรี อินชัวเรอร์ น่าจะได้ข้อสรุปในอัตราเบี้ยประกันภัยต่อที่เหมาะสม คือ ใกล้เคียงกับอัตราเบี้ยที่คาดการณ์ไว้ 3-5% หากต่ำกว่านี้ก็จะไม่มีผลต่อการดำเนินงานของกองทุน ซึ่งยังคงคิดอัตราเบี้ยตามเดิม คือบ้านที่อยู่อาศัยคิดที่ 0.5% ของทุนประกันภัย เอสเอ็มอี คิดที่ 1% ของทุนประกันภัย และอุตสาหกรรมคิดที่ 1.25% ของทุนประกันภัย ส่วนการจำกัดวงเงินความรับผิด หรือซับ ลิมิต จะเร่งหาข้อสรุป เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนภายในวันที่ 7 กันยายนนี้ ซึ่งในวาระดังกล่าวจะเสนอรายชื่อบริษัทนายหน้าประกันภัยต่อ เพื่อให้บอร์ดพิจารณาแต่งตั้ง จากนั้นก็จะเริ่มกระบวนการซื้อประกันภัยต่อให้เร็วที่สุด

"แนวทางมีความเป็นไปได้สูงที่จะขยายซับ ลิมิต จาก 30% เป็น 50% ซึ่งที่ผ่านมามีกระแสว่าจะพิจารณาเป็นรายๆ จะเป็นเครื่องจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอี สนใจเข้ามาทำประกันภัยภายใต้กองทุนมากขึ้น"

ด้านเลขาธิการสำนักงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า อัตราเบี้ยประกันภัยที่ทางคณะกรรมการกองทุนฯ มองว่าจะเป็นระดับที่เหมาะสม ต้องไม่เกิน 3-5% หากถามว่าเป็นระดับที่สูงหรือ ก็ยอมรับว่ายังถือว่าสูง เมื่อเทียบกับก่อนเกิดเหตุการณ์ปลายปี 2554 แต่จะให้ต่ำกว่านี้คงทำได้ยาก

"อาจใช้เวลา 2-3 ปี เพื่อให้อัตราเบี้ยคงที่และปรับลดลง ดังนั้นสิ่งที่ทำให้อัตราเบี้ยลดลงจาก 3-5% ถามว่า 3-5% นี่สูงมั้ย คำตอบถือสูง แต่การให้เบี้ยปรับลดลง ต้องอาศัยเวลาและความเชื่อมั่นจากแผนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเร็วๆ นี้ จะมีแผนทดสอบปล่อยน้ำเข้ากทม. ก็จะเป็นข้อพิสูจน์ได้"

รายงานข้อมูลจากกองทุนประกันภัยพิบัติ คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีนี้ทั้ง 3 กลุ่มที่สนใจซื้อประกันภัยพิบัติ คิดเป็นทุนประกันภัยประมาณ 3.299 แสนล้านบาท มีเบี้ยประมาณ 3.5 พันล้านบาท

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ