ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัยพิบัติ วุ่นไม่เลิก กองทุนปรับเงื่อนไข - ลูกค้ามึนต้องซื้อเพิ่ม

กองทุนประกันภัยพิบัติ เคาะเงื่อนไขใหม่หวั่นสร้างปัญหากับลูกค้า เหตุกองทุนไม่คุ้มครองธุรกิจหยุดชะงัก ประกันภัยคุ้มครองแค่หมื่นเดียว

ประกันภัยพิบัติ วุ่นไม่เลิก กองทุนปรับเงื่อนไข - ลูกค้ามึนต้องซื้อเพิ่ม

สิงหาคม
6

ข่าวจากคณะกรรมการสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย เปิดผยว่า คณะกรรมการฯ มีความเป็นห่วงเงื่อนไขใหม่ในการทำประกันภัยพิบัติ ภายใต้กองทุนส่งเสริมการประกันภัยที่ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพิ่งออกประกาศฉบับที่ 2 มาจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาในการทำประกันภัยของลูกค้าไม่ได้รับความคุ้มครองเต็มที่ รวมถึงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่จะเกิดความยุ่งยากอย่างมาก หากมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้น้ำเริ่มมาแล้ว อาทิ บ้านอยู่อาศัยภายใต้เงื่อนไขของกองทุนฯ บังคับบ้านทุกหลังที่ทำประกันอัคคีภัย และต้องการขยายความคุ้มครองภัยธรรมชาติทั่วไป กองทุนฯ บังคับให้ต้องซื้อประกันภัยพิบัติด้วย วงเงินขั้นต่ำ 20,000 บาทสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งลูกค้าบางรายอาจจะอยากจะซื้อแค่ภัยธรรมชาติแต่ไม่ต้องการภัยพิบัติ เพราะหากรัฐบาลไม่ประกาศเป็นภัยพิบัติ ไม่สามารถเรียกเคลมจากกองทุนได้ ขณะที่ภัยธรรมชาติทั่วไปเพียงแค่เกิดน้ำท่วม ลูกค้าสามารถเรียกเคลมจากบริษัทได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลประกาศเป็นภัยพิบัติ

“ตอนแรกกองทุนฯ บังคับลูกค้าที่จะซื้อประกันอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัย ต้องทำภัยพิบัติด้วยการขายพ่วงไปเลย แต่มีการท้วงติงว่าละเมิดสิทธิของลูกค้าเลยแก้ไขใหม่ บ้านที่ทำประกันอัคคีภัยไม่ต้องซื้อกรมธรรม์ภัยพิบัติก็ได้”

ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีและอุตสาหกรรม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คปภ. เคยมีประกาศออกมา ถ้าจะออกกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ให้กับลูกค้า ให้มีความคุ้มครองภัยน้ำท่วมด้วย แต่ให้จำกัดวงเงินความคุ้มครอง หรือซับ ลิมิต ซึ่งเมื่อจัดตั้งกองทุนฯ ขึ้นมายังใช้หลักเกณฑ์นี้อยู่ แต่พอมีประกาศฉบับที่ 2 กำหนดลูกค้าที่จะซื้อประกันภัย IAR แบบที่มีการจำกัดความคุ้มครองให้คุ้มครองภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ แค่ 10,000 บาทเท่านั้น โดยจะคิดเบี้ยเบี้ยประกันภัยตามอัตราของบริษัทประกันภัย หากลูกค้าอยากได้ความคุ้มครองเพิ่ม ต้องซื้อกรมธรรม์ภัยพิบัติเพิ่มอีกฉบับหนึ่งกับกองทุนฯ ผ่านบริษัทประกันภัยที่จะส่งประกันภัยต่อไปให้กับกองทุน ซึ่งจะจำกัดความคุ้มครองแค่ 30% ของทุนประกันภัย คิดค่าเบี้ยตามอัตราของกองทุน และถ้าลูกค้าอยากได้ความคุ้มครองสูงกว่า 30% ต้องไปซื้อกรมธรรม์กับบริษัทประกันภัยอีก 1 ฉบับ เพื่อคุ้มครองส่วนเกินจากกองทุน คิดค่าเบี้ยประกันภัยตามอัตราของบริษัท เท่ากับต้องซื้อกรมธรรม์ถึง 3 ฉบับ

“แม้ในหลักเกณฑ์ใหม่กองทุนฯ จะขยายความคุ้มครองภัยพิบัติให้ถึง 50% หรือสูงกว่านั้น แต่ให้เฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีทุนประกันภัยตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น และต้องมีมาตรการบริหารความเสี่ยงที่ดี ถ้าทุนประกันภัยต่ำกว่านี้ กองทุนฯ คุ้มครองให้แค่ 30% บวกอีก 10,000 บาท ถ้าอยากได้มากกว่านี้ต้องซื้อ3 ฉบับ”

ยิ่งกว่านั้น ปัญหาใหญ่ที่จะตามมาคือ กองทุนฯ ไม่คุ้มครองธุรกิจหยุดชะงัก (bi) ที่เป็นความเสียหายจากภัยพิบัติ หากมีความเสียหายเกิดขึ้น เท่ากับลูกค้าจะเรียกเคลมได้เฉพาะกรมธรรม์ฉบับแรกที่ทำกับบริษัทประกันภัย คุ้มครองธุรกิจหยุดชะงักแค่ 10,000 บาท และกรมธรรม์ฉบับที่ 3 ที่ทำกับบริษัทประกันภัย คุ้มครองส่วนที่เกินจากกองทุนทั้งภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ แต่จะมีปัญหาถ้ารัฐบาลประกาศภัยพิบัติจะเรียกเคลมได้หมด ถ้าไม่ประกาศจะได้แค่ภัยธรรมชาติ แล้วส่วนเกินของภัยพิบัติที่บริษัทประกันภัยคุ้มครองอยู่ จะเคลมอย่างไร

“เรื่องธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งน้ำท่วมครั้งก่อนโรงงานอุตสาหกรรมเสียหายในจุดนี้มาก ถ้ากองทุนไม่คุ้มครองในจุดนี้ จะมีประโยชน์อะไรกับโรงงาน เท่ากับโรงงานในพื้นที่เสี่ยงพึ่งพากองทุนฯ ได้ไม่เต็มที่ การที่ให้ลูกค้าต้องซื้อประกันภัยถึง 3 ฉบับ ในอัตราเบี้ยประกันภัยที่ต่างกันเป็นภาระกับลูกค้า แถมความคุ้มครองบางส่วนก็ซ้ำซ้อนกัน เวลาไปขายจะอธิบายลูกค้าให้เข้าใจได้อย่างไร ผลสุดท้ายลูกค้าก็ไม่อยากซื้อ “

สำหรับเงื่อนไขใหม่ของกองทุนฯ อาทิ กำหนดวงเงินคุ้มครองภัยพิบัติบ้านอยู่อาศัยขั้นต่ำ 20,000 บาท เบี้ยประกันภัย 100 บาท, ขยายวงเงินคุ้มครองทรัพย์สินจาก 30% เป็น 50% สำหรับเอสเอ็มอีและอุตสาหกรรม ที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี, เอสเอ็มอีและอุตสาหกรรม หากบริษัทประกันภัยสามารถขายเบี้ยภัยพิบัติต่ำกว่าราคาของกองทุนที่กำหนดไว้ 1-1.25% ตั้งแต่ 20% ขึ้นไปได้บริษัทไม่ต้องออกกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ และไม่ต้องส่งประกันภัยเข้ากองทุนฯ แต่ต้องรายงานข้อมูลการรับประกันภัยให้กองทุนทราบทุกสิ้นเดือน

ด้านข่าวจากวงการประกันวินาศภัยให้ความเห็นว่า แนวทางปฏิบัติในการรับประกันภัยพิบัติยังมีหลายข้อที่เป็นปัญหา เช่น การกำหนดความคุ้มครองขั้นต่ำ 10,000-20,000 บาท คิดเป็นเบี้ยประกันภัยประมาณ 100 บาท ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการออกกรมธรรม์ประกันภัย ขณะที่เรื่องการเคลม เช่น กองทุนฯ กำหนดจ่ายเคลมภายใน 15 วัน เมื่อได้รับเอกสารครบถ้วนเรียบร้อย ขณะที่บริษัทประกันภัยจะจ่ายเคลมให้กับลูกค้าเมื่อได้รับเงินจากกองทุนแล้ว ต้องแมตกันให้ดีในเรื่องระยะเวลา

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเงื่อนไขที่จะเข้าข่ายเป็นภัยพิบัติ ซึ่งกำหนดให้ต้องมีผู้เอาประกันภัยอย่างน้อย 2 รายขึ้นไป และต้องมีความเสียหาย 5,000 ล้านบาทขึ้นไป และกองทุนฯ ต้องประกาศเป็นภัยพิบัติก่อน กรมธรรม์ภัยพิบัติถึงจึงจะเคลมได้ หากมีลูกค้า 2 รายและความเสียหาย 5,000 ล้านบาท แต่กองทุนฯ ไม่ประกาศเป็นภัยพิบัติจะทำอย่างไร จะเคลมได้หรือไม่

รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาด บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด กล่าวว่า การขายประกันภัยพิบัติยังมีปัญหาหลายจุด ขณะนี้หลายบริษัทเริ่มกังวลเพราะน้ำเริ่มมาแล้ว หากว่าเกิดท่วมอีกจะมีปัญหาหรือไม่ โดยเฉพาะบริษัทประกันวินาศภัยขนาดเล็ก ที่ไม่ได้ซื้อประกันต่อภัยธรรมชาติไว้ พึ่งพากองทุนฯ อย่างเดียวอาจจะจะเกิดปัญหากับลูกค้า

ในเรื่องเงื่อนไขการเคลม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า การปรับเงื่อนไขการรับประกันภัยพิบัติทำให้ชัดเจนขึ้นในทางปฏิบัติ เช่น การกำหนดความคุ้มครองขั้นต่ำภัยพิบัติบ้านอยู่อาศัย 20,000 บาท ก็เป็นผลดีต่อคนที่บ้านไม่ได้อยู่ในพื้นที่เกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ทำให้รู้สึกไม่ถูกบังคับซื้อทุนประกันภัยสูง เท่ากับคนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม จะทำให้การตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น เช่นเดียวกับภาคธุรกิจไม่ต้องถูกบังคับซื้อ จากเดิมหากจะซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติ ต้องซื้อความคุ้มครองภัยพิบัติด้วย แต่ของใหม่กำหนดขั้นต่ำซื้อภัยพิบัติเพียง 10,000 บาท ทำให้ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น

ที่มา : สยามธุรกิจ