ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ขีดเส้นท้วง ก.ม.ประกันภัยใหม่ ติงอำนาจคปภ. ล้นฟ้า-คุมเข้มทุกฝีก้าว

อยากได้รับความคิดเห็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทบทวนไตร่ตรองก.ม.ประกันภัย ส่งข้อเสนอแนะ พร้อมเหตุผลมาที่คปภ.

ขีดเส้นท้วง ก.ม.ประกันภัยใหม่ ติงอำนาจคปภ. ล้นฟ้า-คุมเข้มทุกฝีก้าว

สิงหาคม
1

คงต้องถกกันหลายยกสำหรับร่างกฎหมายใหม่ทั้ง 2 ฉบับ คือร่างพ.ร.บ.ประกันชีวิต และร่างพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการกำกับธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) ให้มูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษาและยกร่างให้ พร้อมกับเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายไปเมื่อ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา

“เราเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแค่ครั้งเดียว วันนั้นเวลาน้อยด้วยได้ข้อมูลมาระดับหนึ่งยังไม่ทั่วถึง ก่อนที่จะเดินต่อไปอยากได้ความคิดเห็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายมากกว่านี้ จึงได้ออกหนังสือไปถึง 5 สมาคมประกอบด้วย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย และสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ให้ดูต้นร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ให้เวลาทบทวนไตร่ตรองและให้ส่งข้อเสนอแนะ พร้อมเหตุผลมาที่คปภ.ภายในเดือนสิงหาคมนี้” รองเลขาธิการด้านกฎหมายคดีและคุ้มครองสิทธิประโยชน์คปภ.กล่าว

อย่างไรก็ดี หลังจากเห็นต้นร่างกฎหมายใหม่ มีเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจว่า กฎหมายใหม่ให้อำนาจคปภ. มากเกินไป อาทิ อำนาจในการกำหนดคุณสมบัติ คณะกรรมการบริหารผู้มีอำนาจในการจัดการ บริษัท ผู้สอบบัญชี คณะกรรมการตรวจสอบบริษัท รวมไปถึงมีอำนาจกำกับดูแลธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับประกันภัย อาทิ ธนาคารที่เป็นแม่ของบริษัทประกันภัย เป็นต้น

ซึ่งเรื่องนี้ การที่กฎหมายให้อำนาจคปภ. กำกับดูแลไปถึงธนาคารด้วย เพราะธนาคารมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประกันภัย จำเป็นที่คปภ.จะต้องไปดูแล เพื่อนำมาประเมินความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย แต่ทั้งนี้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประกันภัยเท่านั้น ส่วนไหนที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำกับกิจการธนาคารอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร หากมีธุรกิจในเครือเกี่ยวข้องมาถึงประกันภัย คปภ. จะเข้าไปดูแลธุรกิจที่เกี่ยวพันกัน ด้วยร่างกฎหมายใหม่มีการกำหนดอำนาจของผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมาย ทั้งรัฐมนตรี บอร์ดคปภ. นายทะเบียนว่าใครควรจะมีอำนาจแค่ไหน เพียงใด

ข่าวจากสมาคมประกันวินาศภัยให้ความเห็นว่า ร่างกฎหมายใหม่มีการแก้ไขจากเดิมถึง 40% มากที่สุดเทียบกับกฎหมายที่แก้ไขในอดีต การกำกับดูแลเป็นแบบสากลและเป็นไปตามหลักสากล (Insurance Core Principles : ICPs) กระทบกับธุรกิจมากพอควร กฎเกณฑ์บางเรื่องนำมารวมกันเพื่อให้ธุรกิจใช้หลักเดียวกัน ไม่ได้แยกออกเป็นประกันชีวิตและประกันวินาศภัยเหมือนก่อน ทั้งที่ธุรกิจแตกต่างกันเช่น เรื่องการตั้งสำรอง เรื่องสินค้า เป็นต้น อย่างไรก็ดีคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ (บอร์ด) มีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง ดูแลเรื่องการเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย มีกรรมการบริหาร และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโสบริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการ และกรรมการที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจและประชาสัมพันธ์ สมาคมอยู่เป็นหัวหน้า

“เรื่องร่างกฎหมายใหม่ยังไม่ได้ลงลึกชัดเจนจะเอาอย่างไรกัน กำลังรอรายชื่อตัวแทนจากคณะกรรมการชุดต่างๆ ในสมาคมที่จะเข้ามาเป็นคณะทำงานอยู่ ประมาณต้นเดือนสิงหาคมน่าจะเริ่มคุยกัน”

ด้านข่าวจากสมาคมประกันวินาศภัยอีกรายหนึ่งกล่าวว่า ร่างกฎหมายใหม่มี 2-3 มุมมอง 1. ถ้ามองจากคนร่างกฎหมายอาจจะพุ่งความสนใจ ไปที่หน่วยงานกำกับดูแล จึงเพิ่มอำนาจหลายๆ อย่างให้มากขึ้น เพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมายสะดวกมากขึ้น ขณะที่สมาคมก็เห็นด้วยกับบางเรื่อง แต่อยากให้ผู้ประกอบการมีความสะดวกในการปฏิบัติตามกฎหมายด้วย 2. อยากให้มีการรื้อที่มาที่ไปของกฎหมาย ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และมองไปข้างหน้าถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) กฎหมายมีประโยชน์อะไรกับภาคธุรกิจประกันภัยบ้างหลังเอเอชี และ 3. จะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายต่างๆอย่างวิชาชีพที่เกี่ยวกับการเงิน มาช่วยดูด้วย เพื่อให้ได้มุมมองหลายด้าน เพราะกฎหมายที่จะออกมาต้องมีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ในมุมของผู้กำกับร่างกฎหมายมีการกำกับดูแลที่เข้มข้นมาก ควรจะเป็นเรื่องของการผ่อนคลายไม่ใช่เคร่งครัด มีหลายประเด็นที่ต้องคุย เช่น ห้ามมิให้บริษัทประกันภัยกระทำการฉ้อฉล เชื่อว่าทุกแห่งไม่มีใครเจตนาฉ้อฉลอยู่แล้ว”

ในมุมธุรกิจประกันชีวิต ผู้อำนวยการสมาคมประกันชีวิตไทย ให้ความเห็นว่า ทางสมาคมได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ของคณะอนุกรรมการกฎหมายของสมาคม ซึ่งมีคณะทำงานทำหน้าที่พิจารณาศึกษาข้อกฎหมาย ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจประกันชีวิตอยู่แล้ว ส่วนจะมีการให้ความเห็น หรือข้อเสนอแนะในเรื่องใดบ้างนั้น คงต้องรอให้คณะอนุกรรมการชุดนี้ ศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วเสร็จ จากนั้นก็จะนำชี้แจงต่อบอร์ดบริหาร เพื่อแจ้งต่อสมาชิกให้รับทราบก่อนที่จะเสนอไปยังคปภ. ซึ่งยังมีเวลาอีกนานในการพิจารณาก่อนหมดเวลารับฟังความเห็น ขณะที่ข่าวจากวงการประกันชีวิตมีความเห็นหลากหลาย รายหนึ่งบอกว่า ร่างกฎหมายใหม่ค่อนข้างให้อำนาจกับคปภ. มาก ควบคุมธุรกิจเข้มงวดมากกว่าเดิม สวนทางกับนโยบายของคปภ. ที่ต้องการเป็นผู้กำกับดูแลธุรกิจ

“แทนที่ร่างกฎหมายใหม่จะเน้นไปที่การส่งเสริมให้แข่งขันได้ แต่กลับมาเน้นการควบคุมเข้มงวดมากกว่าที่เป็นอยู่ ก็ยิ่งจะทำให้แข่งขันลำบากเมื่อเปิดเสรี เพราะทุกวันนี้ก็การควบคุมของคปภ. ก็เข้มงวดอยู่แล้ว”

ส่วนอีกรายมองว่า เป็นเรื่องดีที่คปภ. มีอำนาจมากขึ้น ทำให้บางเรื่องขั้นตอนการทำงานเร็วขึ้นกว่าเดิม สามารถจบที่คปภ.ได้เลย ไม่ต้องรอขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ที่มา : สยามธุรกิจ