ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

แบงก์ขาย ‘บริษัทประกันภัย’ เปลี่ยนบทเป็นแค่ ‘นายหน้าประกันภัย’

ประกันภัยส่วนใหญ่ขาดทุน ต้องเพิ่มทุนมโหฬาร ผู้ถือหุ้นคนไทยเริ่มถอดใจ กฎกติกาใหม่มีความเข้มงวดมากขึ้น

แบงก์ขาย ‘บริษัทประกันภัย’ เปลี่ยนบทเป็นแค่ ‘นายหน้าประกันภัย’

กรกฎาคม
25

นับตั้งแต่กลุ่มการเงินประกันภัยยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ “เอไอจี กรุ๊ป” ซวนเซ เพราะวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 จนต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ต้องขายสินทรัพย์บางส่วนเพื่อระดมเงินสดมาใช้หนี้ หรือกรณี “ไอเอ็นจี” ยักษ์การเงินประกันภัยจากเนเธอร์แลนด์ ที่เจอหางเลขจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ก่อนจะมาเจอผลกระทบเต็มๆ จากยูโรโซนครั้งล่าสุด จนต้องตัดสินใจนำธุรกิจประกันชีวิตในเอเชีย รวมถึงในไทยที่มีกำไรออกขายระดมเงินสดจ่ายหนี้รัฐบาล

จนมาถึงประเทศไทย ความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยส่วนใหญ่ขาดทุน ต้องเพิ่มทุนกันมโหฬาร ทำให้ผู้ถือหุ้นคนไทยรวมถึงกลุ่มธนาคารเริ่มถอดใจขายหุ้นออกไป เพราะเริ่มมองเห็นว่าไม่คุ้มทุน อีกทั้งกฎกติกาใหม่ๆ ที่หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและแบงก์นำออกมาใช้ ก็มีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกก็มองข้ามไม่ได้

“เมื่อธุรกิจใหญ่ขึ้น บริษัทประกันภัยต้องเติมทุนเข้ามามากขึ้น ให้สอดรับกับ RBC เท่ากับผู้ถือหุ้นใส่เงินเยอะขึ้น อย่างแบงก์เองเขาก็มีภาระต้องเพิ่มทุน ขณะที่กฎใหม่ “บาเซิล ทรี” กำลังจะใช้ในอนาคตอันใกล้ อยู่ที่แบงก์จะเติมเงินเข้ามาหรือไม่ เพราะถ้าเทียบแล้วประกันภัยไม่ใช่ธุรกิจหลักของเขา” ข่าวจากวงการประกันภัยรายหนึ่งให้ความเห็น

ยิ่งกว่านั้น กฎเกณฑ์ต่างๆ เข้มข้นและหยุมหยิมขึ้นเรื่อยๆ อย่างกฎหมายใหม่ที่กำลังยกร่างกันอยู่ ให้อำนาจคปภ. เข้าไปตรวจสอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด รวมไปถึงแบงก์ที่เป็นแม่ของประกันภัยได้ด้วย หากเทียบกับการเป็นแค่นายหน้า หรือช่องทางขายประกันภัย รับค่าคอมมิสชั่นอย่างเดียว ไม่ต้องควักเงินเพิ่มทุนให้กับบริษัทประกันภัย

สำหรับธนาคารที่ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทประกันภัยลงในช่วงนี้ ได้แก่ธนาคารยูโอบีและทิสโก้ ที่ถือหุ้นในบริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่แอกซ่าประกันภัยต้องเพิ่มทุน 1,500 ล้านบาท ชดเชยผลกระทบจากน้ำท่วมทั้ง 2 ธนาคารไม่ได้เพิ่มทุน ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของยูโอบีลดลงจาก 22% เหลือ 4% และทิสโก้ลดลงจาก 10% เหลือ 2% กรณียูโอบีซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 1 ของสิงคโปร์ มีการขายบริษัทประกันชีวิตในต่างประเทศหลายแห่ง

นอกจากนี้ยังมีข่าววงในออกมาอีกว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) ต้องการจะขายไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย ที่ผ่านมามีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาเจรจาตลอด แต่ยังตกลงกันไม่ได้

“สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้นใหญ่ในเทเวศประกันภัยและธนาคารไทยพาณิชย์ ขณะที่แบงก์มาถือหุ้นในสามัคคีประกันภัยอีกที เท่ากับทั้ง 2 บริษัทมีแม่คนเดียวกัน ทิศทางของบริษัทแม่เขาไม่อยากเก็บไว้ 2 บริษัท เพราะถ้าต้องเพิ่มทุน ต้องเพิ่มทั้ง 2 บริษัท จะมีภาระเยอะส่งผลต่อการแข่งขันหากเปิดเออีซี ตอนนี้แบงก์เขาเริ่มโอนงานที่เคยให้กับสามัคคีไปให้กับเทเวศประกันภัยแล้ว เป็นสัญญาณบ่งบอกอะไรบางอย่าง”

สำหรับบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งแบงก์กลับมาถือหุ้น 100% เชื่อว่าทางแบงก์คงไม่คิดขายออกไป เพราะผลประกอบการด้านแบงก์แอสชัวรันส์ค่อนข้างแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ดี ธนาคารที่ตกเป็นข่าวฮือฮามากที่สุด กรณีขายบริษัทประกันภัยในเครือคือ “ธนชาต” ที่จะขายบริษัทประกันชีวิตที่ถือหุ้นอยู่ซึ่งมีอยู่ 2 บริษัท คือธนชาตประกันชีวิต และประกันชีวิตนครหลวงไทย แม้ขณะนี้ทางผู้บริหารแบงก์ยังไม่ออกมายืนยันข่าวการขาย แต่มีข่าวจากต่างประเทศเป็นระยะว่า “กลุ่มพรูเด็นเชียล” จะซื้อ ข่าวจากวงการประกันชีวิตให้ความเห็นว่า เหตุที่แบงก์ธนชาตอยากขายธุรกิจประกันชีวิต อาจเป็นเพราะในฐานะเจ้าของธุรกิจ หากว่าขยายธุรกิจมากก็ต้องเพิ่มทุนมาก เมื่อเป็นเจ้าของบริษัทประกันภัยถึง 2 บริษัท การเพิ่มทุนจึงเป็นภาระที่หนัก

“แบงก์อาจจะไม่อยากเพิ่มทุน แต่อยากจะกินค่าคอมมิสชั่นอย่างเดียว ในฐานะเป็นช่องทางขาย ได้ค่านายหน้าจากการขายประกันภัยผ่านแบงก์ก็ได้ เพราะแบงก์เองก็มีธุรกิจหลักที่ต้องทำอยู่แล้ว”

ขณะที่กรณีของไอเอ็นจี กรุ๊ป บริษัทแม่ของไอเอ็นจีประกันชีวิต ซึ่งอยู่ระหว่างการขายธุรกิจประกันชีวิตในเอเชีย โดย ไอเอ็นจี กรุ๊ป ถือหุ้นอยู่ในแบงก์ทหารไทยด้วย หากการขายธุรกิจประกันชีวิตในเอเชียสำเร็จ จะขายหุ้นในทหารไทยด้วยหรือไม่ ยังมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต (AZAY) อยู่ในเครือ แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เหมือนอดีต และปัจจุบันแบงก์ก็มีพันธมิตรนอกเครือ อย่างบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ด้วย ดังนั้นอนาคตหากแบงก์มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นใน อลิอันซ์ อยุธยาประกันชีวิตด้วย

ที่มา : สยามธุรกิจ