ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

สรรพากรรับลูกแก้ไขภาษีประกันภัย พร้อมแข่งขันยุคเสรี

คปภ. พร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่จะมีผลต่อการเปิดเสรี AEC กฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจประกันภัยให้แข่งขันได้

สรรพากรรับลูกแก้ไขภาษีประกันภัย พร้อมแข่งขันยุคเสรี

กรกฎาคม
6

ปัญหาภาษีของธุรกิจประกันภัย ถือเป็นเรื่องคาราคาซังมานานหลายปี โดยทั้งสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัย ต่างก็พยายามผลักดันมาตลอด โดยเฉพาะโจทย์ใหญ่เรื่องของการนำเงินสำรองประกันภัยมาหักเป็นค่าใช้จ่าย โดยปัจจุบันประมวลรัษฎากรกำหนดให้ หากเปิดธุรกิจประกันชีวิตสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้แค่ 65% ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยกำหนดนำเงินสำรองเบี้ยประกันภัย ที่ยังไม่ถือเป็นรายได้มาหักค่าใช้จ่ายได้เพียง 40% เท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ต้องหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง หรือตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย

ล่าสุด บนเวทีสัมมนาเรื่อง “AEC โอกาส หรือวิกฤติ..ประกันชีวิตไทย” เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้พูดถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่จะมีผลต่อการเปิดเสรี พร้อมจะแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจให้แข่งขันได้ ซึ่งในเรื่องของภาษีที่เป็นอุปสรรคอยู่ ทางกรมสรรพากรรับหลักการแล้ว 3 ข้อ คือ
1. ให้นำเงินสำรองประกันภัยมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ตามจริง หรือตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย
2. การตั้งสำรองให้เป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย และ
3. ให้ธุรกิจประกันชีวิตได้รับสิทธิปรับลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่จัดเก็บในอัตรา 0.01% เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์และ สถาบันการเงินอื่นๆ รวมทั้งให้นิติบุคคลที่กู้ยืมเงินจากธุรกิจประกันชีวิต ได้รับสิทธิยกเว้นหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เช่นเดียวกับการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์

“ถ้ากฎเกณฑ์คปภ. ตัวใดที่เป็นปัญหาอุปสรรค เราก็พิจารณาแก้ไขให้ เพื่อสร้างความพร้อมและเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจ ซึ่งสามารถออกเป็นประกาศคปภ. ได้ แต่หากเป็นเรื่องกฎหมายอาจจะใช้เวลา” เลขาธิการคปภ.กล่าว

ขณะที่ภาคธุรกิจเอง ข่าวจากสมาคมประกันชีวิตไทยให้ความเห็นว่า เรื่องนี้คงต้องรอความชัดเจนจากคปภ. อีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ทราบมาก่อน แม้ว่าที่ผ่านมาในเรื่องปัญหาภาษีดังกล่าว จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างสมาคม คปภ. และกรมสรรพากร เพื่อพิจารณาแก้ไขข้อปัญหาภาษีตามที่ได้ยื่นเสนอไปก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมา

“คณะทำงานก็กำลังทำกันอยู่ หากตรงไหนต้องการข้อมูลเพิ่ม ทางกรมสรรพากรก็จะขอข้อมูลมา เราก็จัดทำไปให้แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ยังอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกัน แต่การยื่นพิจารณาปัญหาภาษี เรายื่นผ่านคปภ. ไปยังกรมสรรพากรอีกที จึงอาจเป็นไปได้ว่าเป็นผลการหารือของคปภ. กับกรมสรรพากร ทำให้เรายังไม่รู้เรื่องนี้ก็ได้ ดังนั้นสมาคมคงต้องรอนำเรื่องนี้ไปถาม ในที่ประชุมร่วมกันของคณะทำงานพิจารณาปัญหาภาษี ในครั้งหน้าว่าความชัดเจนเป็นอย่างไร ให้มีผลเมื่อใดหรือยังไง ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเรียกประชุมเมื่อใด เพราะการประชุมแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับทางกรมสรรพากรจะเป็นผู้นัดประชุมมา”

สมาคมประกันชีวิตไทยขอแก้ไขภาษี 5 ข้อ คือ
1. ตั้งสำรองเบี้ยประกันชีวิต ขอแก้ไขประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (1) ให้บริษัทประกันชีวิตนำเงินสำรองประกันภัย มาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 65% หรือให้เป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งจะสอดคล้องกับการขายประกันบำนาญ ที่เป็นกรมธรรม์ระยะยาว ที่สนองนโยบายรัฐในการวางแผนออมเพื่อเกษียณ รองรับสังคมผู้สูงอายุ และสามารถหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาท อีกทั้งจะเอื้อให้เกิดสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาดได้มากขึ้น รวมไปถึงทำให้ธุรกิจมีเม็ดเงินไปลงทุนในตลาดทุนได้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายภาครัฐ ที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในตลาดทุนมากขึ้นอีกด้วย

2. การขอลดหย่อนภาษีสำหรับกรมธรรม์พ่วงลงทุน (Investment Linked) ทั้งยูนิตลิงค์และยูนิเวอร์แซลไลฟ์ 300,000 บาท รวมไปถึงประเด็นที่ร่วมกันผลักดันกับสมาคมประกันวินาศภัย ในเรื่องการขอนำค่าเบี้ยประกันภัย สำหรับประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (พีเอ) และประกันภัยสุขภาพ มาหักลดหย่อนภาษีได้รวมกันไม่เกิน 50,000 บาท

3. ขอให้ธุรกิจประกันชีวิตได้รับสิทธิปรับลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/6 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จัดเก็บในอัตรา 0.01% เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ โดยขอให้ธุรกิจประกันชีวิตเข้าไปรวมอยู่ในคำจำกัดความของคำว่า “สถาบันการเงิน”

4. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยขอให้นิติบุคคลที่กู้เงินจากธุรกิจประกันชีวิต ได้รับสิทธิยกเว้นการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) ได้เช่นเดียวกับการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ และ

5. ขอให้แก้ไขประมวลรัษฎากรมาตรา 57 ตรีและคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.115/2545 กรณีเงินได้ของภรรยา ซึ่งเป็นตัวแทนประกันชีวิตและเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) ไม่ต้องถูกนับรวมเป็นเงินได้ของสามี ซึ่งทำให้ตัวแทนผู้หญิงเสียภาษีมากกว่าที่ควรเป็น เพราะตัวแทนประกันชีวิตในปัจจุบัน 80% เป็นผู้หญิง หากแก้ไขได้ก็จะช่วยตัวแทนส่วนใหญ่ในระบบ

ส่วนปัญหาภาษีของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยที่ได้ยื่นเสนอแก้ไขไป ได้แก่
1. ขอยกเว้นภาษี ให้สามารถนำผลขาดทุนสุทธิของบริษัทเดิม มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อคำนวณภาษีเงินได้สำหรับกรณีการควบรวมกิจการของบริษัทประกันภัยได้
2. ขอแก้ไขประมวล รัษฎากรมาตรา 65 ตรี(1) เรื่องการหักค่าใช้จ่ายเงินสำรองเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถือเป็นรายได้ ให้หักค่าใช้จ่ายตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือหักได้เต็มจำนวน จากเดิมกรมสรรพากรให้หักเป็นค่าใช้จ่ายได้แค่ 40% และ
3. การสำรองค่าสินไหมทดแทน ขอให้นำสินไหมทดแทนที่ยังไม่ตกลง หรือยังไม่จ่าย (IBNR) มาหักค่าใช้จ่ายได้

ที่มา : สยามธุรกิจ