ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

คปภ. เอาจริงจัดระเบียบประกันภัยแบงก์แอสชัวรันซ์

คปภ. จับมือจัดระเบียบขายประกันภัยช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ อุดช่องขายผิดความต้องการ ลูกค้าไม่ถูกหลอก

คปภ. เอาจริงจัดระเบียบประกันภัยแบงก์แอสชัวรันซ์

มิถุนายน
24

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางคปภ. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้หารือร่วมกันถึงการปรับกฎกติกาที่ใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจการเงินทั้งระบบแล้ว โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคประกันภัย จะเน้นเรื่องการขายและการให้บริการให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ

ทั้งนี้ในส่วนของคปภ. มองว่า ภาคประกันภัยมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะจะเข้ามาเติมเต็มเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง ล่าสุดได้เตรียมออกกฎกติกาให้มีความทันสมัย โดยเฉพาะรูปแบบการขายสินค้าประกันภัย ในช่องทางธนาคาร หรือแบงก์แอสชัวรันซ์

ส่วนเหตุผลที่ต้องมาเน้นช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์เป็นพิเศษ ไม่ได้เกิดจากการถูกร้องเรียนถึงพฤติกรรมการขาย แต่เป็นเพราะต้องการให้การซื้อประกันภัย และขายทำธุรกรรมด้านการเงินเป็นระบบมากขึ้น อีกอย่างที่ผ่านมาเมื่อมีการเข้าไปใช้บริการ ลูกค้ามักถูกรบเร้าให้ซื้อผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นประกันภัย กองทุน หรืออื่นๆ ขณะที่ลูกค้าที่ต้องการฝากเงินต้องรอเป็นเวลานาน โดยเฉพาะระยะหลังนี้แบงก์แอสชัวรันซ์ได้ขยายไปเติบโตไปต่างจังหวัดมากขึ้น

กล่าวอีกว่า กฎระเบียบรูปแบบใหม่ จะปรับรูปแบบให้ทันสมัย โดยให้ธนาคารปรับการขายออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนก่อนการขาย (Pre sale) ส่วนนี้ธนาคารจะต้องแยกส่วนงานให้บริการของธนาคารปกติ ออกจากเคาน์เตอร์ประกันภัยให้ชัดเจน มีป้ายระบุว่าเป็นการให้บริการส่วนใด ต้องไม่รวมอยู่กับเคาน์เตอร์ถอนเงิน หรือจุดจำหน่ายหน่วยการลงทุนในธนาคาร ซึ่งต้องแบ่งแยกโซนให้ชัดเจน-ไม่ปนกัน

ต่อมาขั้นตอน ณ จุดขาย หรือ Point of sale จุดนี้ถือว่าสำคัญ เพราะเป็นส่วนที่ต้องให้ข้อมูลพื้นฐานแก่ลูกค้า เพราะต้องให้ความรู้และรายละเอียดต่อลูกค้าถึงผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่จะมาให้บริการ ณ จุดนี้ได้ ธนาคารจะต้องกำหนดระดับคนให้เหมาะสมกับความสามารถ ให้เป็นไปตามระดับความยากง่าย ซับซ้อนของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เรียกว่าขายตามระดับความรู้จริงๆ และต้องไม่ไปขายสูงเกินความสามารถ ป้องกันความไม่เข้าใจในผลิตภัณฑ์ อันจะนำไปสู่ความสับสนและถูกร้องเรียนได้ในอนาคต

สำหรับขั้นตอนหลังการขาย (Post of sale) หรือจุดร้องเรียน จะทำให้ระบบการตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยให้มากขึ้น หากลูกค้าขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นกับธุรกิจประกันภัย เกิดความโปร่งใส ให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง ป้องกันไม่ให้ลูกค้าถูกเอาเปรียบได้

"3 เรื่องที่นำมาปรับใช้กับธนาคาร อาจถูกมองว่าเป็นการจัดระเบียบ แต่เชื่อว่าการเข้ามาควบคุมครั้งนี้ จะเป็นการสร้างรากฐานการขายสินค้าผ่านช่องทางให้มีมาตรฐาน ไม่ใช่งุบงิบทำโดยไม่เปิดเผย ที่สำคัญไม่ใช่เพิ่งทำเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ก็สำเร็จมาแล้วในตลาดทุน เชื่อว่าหลังจากปรับกฎดังกล่าว จะช่วยสร้างฐานการเติบโตที่สำคัญ หากเราทำช้าไปกว่านี้ช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ที่นับวันมีแต่การเพิ่ม ก็จะควบคุมได้ยากกว่านี้ ซึ่งทั้ง 3 จุดทุกธนาคารและทุกสาขา ต้องทำให้เหมือนกันทุกสาขา"

ข้อมูลจากสมาคมประกันชีวิตไทย ระบุว่า ช่องทางการเติบโตของเบี้ยประกันภัยใหม่ เฉพาะไตรมาส 1 ทั้งระบบ โดยประกอบไปด้วยเบี้ยปีแรก (FYP) และเบี้ยชำระครั้งเดียว มีปริมาณเบี้ยเข้าสู่ธุรกิจมากถึง 27,472.1 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 25% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดังนั้นการขายผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ สามารถสร้างเบี้ยประกันภัยใหม่เข้าสู่ระบบได้มากที่สุดถึง 14,583.4 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 42% จากทุกช่องทาง

สอดคล้องกับนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ช่องทางการจำหน่ายที่ถือว่าสดใส อย่างแบงก์แอสชัวรันซ์ ถือว่าเป็นอันดับต้นๆ มีอัตราการเติบโตสูงแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะไตรมาสแรกสามารถสร้างเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 33,502 ล้านบาท ถือเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประกันชีวิตถึงสิ้นปี 2555 เติบโตไม่ต่ำกว่า 15% โดยมี 3 บริษัทที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดของอุตสาหกรรม คือ บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) รองลงมาคือบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด และท้ายสุดคือ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ