ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

เพิ่มคุ้มครองประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ. ปลดล็อกค่ารักษา

ปรับปรุงประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ. สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น บนฐานไม่ปรับเบี้ยประกันภัยรถยนต์เพิ่มขึ้น

เพิ่มคุ้มครองประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ. ปลดล็อกค่ารักษา

มิถุนายน
18

คปภ.เล็งปรับประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ.อีกยก เพิ่มความคุ้มครอง ไม่ขึ้นเบี้ยประกันภัย ชี้ต้องปรับให้สอดรับกับค่าครองชีพขยับเพิ่ม ค่ารักษาพยาบาลแพง ลั่นไม่เกิน 3 เดือนรู้ผล ระดมสมองหาวิธีเพิ่มความสะดวกเบิกสินไหมช่วยประชาชน หลังโรงพยาบาลอ้างเบิกจ่ายช้า-ติดปัญหาบันทึกประจำวันจากตำรวจ ด้านบิ๊กวินาศภัยแจงเพิ่มคุ้มครองพ.ร.บ.ทำได้ แต่คปภ.ควรทบทวนทั้งกระดาน ลดเงินสมทบที่บริษัทประกันภัยจ่ายให้คปภ.และบริษัทกลางฯ เพื่อลดภาระบริษัท

รองเลขาธิการด้านกฎหมายคดีและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา คปภ.และสมาคมประกันวินาศภัยและบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ได้หารือกันประเด็นการเบิกค่าสินไหมทดแทนประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหรือประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ทำอย่างไรจะให้ผู้ประสบภัยได้รับความสะดวกมากขึ้น หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาลบางแห่งแจ้งมาว่า มีปัญหาในการใช้สิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลจากประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ. ต้องใช้เอกสารมาก โดยเฉพาะบันทึกประจำวันจากตำรวจทำให้เกิดความยุ่งยาก

“ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกำหนดไว้ชัดเจนหากผู้ประสบภัยจากรถ มาใช้สิทธิ์เบิกค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย หลักฐานที่ใช้นอกจากบัตรประชาชนแล้วต้องมีบันทึกประจำวันจากตำรวจ หากเบิกจากบริษัทประกันภัยส่วนที่เกินจากค่าเสียหายเบื้องต้น ต้องใช้บันทึกประจำวันจากตำรวจเช่นกัน รถชนคนเป็นคดีอาญาตามกฎหมายต้องมีตำรวจเข้ามาดูอยู่แล้ว การกำหนดให้ใช้บันทึกประจำวันเพื่อป้องกันการทุจริต เพราะไม่รู้เหตุที่เกิดมาจากอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนหรือไม่ ขณะที่ทางโรงพยาบาลที่รับผู้ประสบภัยเข้าไปรักษาตัว บอกทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้สิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาล ไม่ใช้บันทึกประจำวันได้หรือไม่”

อย่างไรก็ดีคงต้องหาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกที่สุด เช่น ถ้าไม่ใช้บันทึกประจำวันใช้หลักฐานอื่นได้หรือไม่ อาทิให้แพทย์เป็นผู้รับรองเป็นผู้ประสบภัยจากรถจริง ซึ่งน่าจะใช้แทนได้ เพราะแพทย์เป็นผู้รักษาและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียคงต้องหารือกันต่อไป ขณะเดียวกันเนื่องจากคปภ.มีเครือข่ายทั่วประเทศ จึงรับเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสินไหมประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ.รวมไปถึงติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ และบริษัทประกันภัยเอง

รองเลขาธิการคปภ.กล่าวว่า เมื่อต้องหาวิธีเพิ่มความสะดวกในการจ่ายสินไหมทดแทนประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ. เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุดแล้ว ทางคปภ.จะถือโอกาสปรับปรุงประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไปพร้อมกัน โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความคุ้มครองให้กับประชาชนเพื่อให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจทั้งค่าครองชีพ ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการเพิ่มความคุ้มครองอยู่บนฐานไม่ปรับเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น

“หลักของประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ.ไม่หวังกำไรอยู่แล้ว และไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนต้องมีภาระเพิ่ม ทุกครั้งที่มีการปรับความคุ้มครองเราจะดูค่าเบี้ยประกันภัยพอหรือไม่ ถ้าหากบริษัทประกันภัยอยู่ได้ควรจะเพิ่มความคุ้มครอง เรื่องนี้สมาคมฯ รับลูก ยินดีที่จะไปศึกษาการเพิ่มความคุ้มครองจะขอดูตัวเลข 1-2 เดือนคาดว่าไม่น่าจะเกิน 3 เดือน จะเห็นความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นจะเป็นเท่าไหร่”

ทั้งนี้ คปภ.ได้ปรับเพิ่มความคุ้มครองประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ.ครั้งหลังสุดไปเมื่อ 2 ปีก่อน กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรหรือสูญเสียอวัยวะ ไม่เกิน 100,000 บาทเป็น 200,000 บาท และค่าชดเชยรายวัน กรณีเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นวันละ 200 บาทสูสุดไม่เกิน 20 วัน ขณะที่ค่าเสียหายเบื้องต้นเท่าเดิมค่ารักษาพยาบาล 15,000 บาท กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรและสูญเสียอวัยวะ 35,000 บาทสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท โดยคิดเบี้ยประกันเท่าเดิมรถเก๋ง 600 บาท(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) รถจักรยานยนต์ 300 บาท

ด้านกรรมการรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ค่ายประกันภัยรถยนต์ที่มีรับประกันภัยรถตามพ.ร.บ.มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศให้ความเห็นว่า ตามหลักหากอัตราสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ไม่สูงไม่เกิน 60% สามารถปรับเพิ่มความคุ้มครองได้ เบี้ยประกันภัยยังพอเหลืออยู่ ซึ่งต่างประเทศทำแบบนี้ แต่เมื่อคปภ.จะทบทวนประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ. แล้วน่าจะทบทวนทั้งกระดานในส่วนของเงินสมทบที่บริษัทประกันภัยต้องนำส่งให้กับบริษัทกลางฯ และคปภ.ทุกปีตามที่กฎหมายกำหนดควรจะปรับลดลงเพื่อลดภาระบริษัทประกันภัย

“บริษัทประกันภัยที่ภาระจ่ายเงินสมทบให้กับคปภ. ปีละ 1% ของเบี้ยรวม ส่วนบริษัทกลางฯ ปีละ 12.5% ของเบี้ยประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ. ในเมื่อจะทบทวนประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ.น่าจะทบทวนเรื่องนี้ไปพร้อมกันด้วย เพื่อลดภาระบริษัทประกันภัยลงหากต้องเพิ่มความคุ้มครองโดยไม่เพิ่มเบี้ยประกันภัย ยกตัวอย่างบริษัทกลางฯ ที่มีกำไรอยู่ในตอนนี้มาจากเงินสมทบที่บริษัทประกันภัยนำส่งให้ทุกปี ไม่ใช่มาจากผลการดำเนินงานซึ่งยังขาดทุนอยู่ พอมีกำไรก็ต้องไปเสียภาษีเงินได้ซึ่งไม่ถูกต้อง “

มีเปิดเผยเพิ่มเติมว่า หากคปภ.ต้องการให้ปรับเพิ่มความคุ้มครองประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ.ก็ต้องปรับ ซึ่งเป็นประเด็นที่คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยต้องไปหารือร่วมกัน ในเรื่องประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่ผ่านมา มีการปรับปรุงมาหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความคุ้มครองและการลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ เน้นไปที่การเพิ่มความคุ้มครองมากกว่า ซึ่งในครั้งนี้หากว่าจะปรับก็ต้องเอาข้อมูลมาคุยกันว่า มีเหตุผลรองรับเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ถึงจะบอกได้ว่าควรปรับหรือไม่ควรปรับอย่างไร

“ปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอดน่าจะเกิดจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วมีความเกี่ยวโยงกับหลายส่วน หากเป็นสิทธิ์ในส่วนของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถถือว่ามีมาตรฐานระดับหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาระบบการเบิกจ่ายตามสิทธิ์ก็สามารถรองรับได้ อย่างบริษัทกลางก็มีระบบอี-เคลมหรือเบิกสินไหมผ่านออนไลน์รองรับ ปีหนึ่งๆ มีผู้ใช้สิทธิ์ถึง 200,000-300,000 เคลม ก็ไม่เห็นมีปัญหาในเรื่องของการเบิกจ่ายล่าช้า ดังนั้นปัญหาน่าจะเกิดจากการรักษาที่ต่อเนื่องจากสิทธิ์ของประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ.มากกว่า ควรต้องนำประเด็นปัญหาแท้จริงที่ชัดเจนว่าอยู่ตรงไหนแน่มาคุยกันมากกว่า”

ด้านประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า ในเรื่องการอำนวยความสะดวกในการเบิกจ่ายสินไหมประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ ทั้งคปภ. และสมาคมฯเห็นตรงกันให้บริษัทกลางฯ เข้ามาดูแล ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่มอบหมายให้บริษัทกลางดูแลเรื่องสินไหมประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ. แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด อีกทั้งต้องยอมรับว่าบริษัทประกันภัยมีจำนวนมาก อาจจะมีบางบริษัทที่ทำเรื่องช้าหรือส่งเอกสารช้า โดยบริษัทกลางฯจะรับเรื่องต่อจากคปภ.ซึ่งจะป็นศูนย์กลางรับเรื่องเกี่ยวกับสินไหมประกันภัย

อนึ่ง ปัญหาเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์เบิกจ่ายสินไหมประกันพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมีปัญหามาตลอด นับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ จนกระทั่งกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้มีการปฏิรูปประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ดึงไปอยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐทั้งหมด โดยอ้างว่าการใช้สิทธิ์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลยุ่งยากใช้เอกสารเยอะ ผู้ประสบภัยเลี่ยงไปให้กองทุนประกันสุขภาพระบบอื่นแทน ซึ่งต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น อีกทั้งบริษัทประกันภัยแข่งขันกันมาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงเกินไปซึ่งปัญหาดังกล่าวยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มา : สยามธุรกิจ