ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

บัฟเฟตต์ ฮุบบริษัทประกันภัย ดอดคุยคปภ.

เบิร์กเชียร์ เป็นแค่นักลงทุนไม่ใช่รีอินชัวเรอส์ อาจมุ่งแสวงหากำไร โขกเบี้ยแพงลิบ15% ถ้าไทยไม่ทำกำไรถอนตัวกลางคันวงเงินประกันภัยต่อหายวับ

บัฟเฟตต์ ฮุบบริษัทประกันภัย ดอดคุยคปภ.

เมษายน
16

โดย ที่มา : สยามธุรกิจ วันที่ 31 มีนาคม 2555 เวลา 00:00 น.

เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยถึงความเคลื่อนไหวของบริษัท เบิร์กเชียร์ แฮทธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ผู้รับประกันภัยต่อรายใหญ่จากสหรัฐฯ ของนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีชื่อดังของโลกว่า นอกจากจะเข้ามาขยายการรับประกันภัยต่อในประเทศอย่างหนักหน่วง ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่แล้ว เบิร์กเชียยังแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจประกันภัยของประเทศไทย ผ่านการซื้อบริษัทประกันวินาศภัยด้วย

“เมื่อเร็วๆ นี้ผู้บริหารระดับสูงของเบิร์กเชียร์ได้เข้ามาพบและแนะนำตัวกับผม เขามา 2 ครั้งนอกจากสอบถามความคืบหน้าเรื่องมาตรการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลแล้ว ยังสนใจบริษัทประกันวินาศภัยในบ้านเราเรา ก็ให้ข้อมูลกับเขาขึ้นอยู่กับความพร้อมของเขา กรณีของเบิร์กเชียร์เป็นตัวอย่างว่ายังมีกลุ่มทุนใหม่ๆ ที่พร้อมจะเข้ามาทำธุรกิจในไทย การที่เขาสนใจลงทุนทำธุรกิจประกันภัยในไทย สะท้อนว่าเขาต้องการลงทุนทำธุรกิจนี้ในระยะยาว มากกว่าแค่เข้ามาลงทุนหาผลกำไรแล้วก็ออกจากตลาดไป การที่คนหน้าใหม่เข้ามาทำธุรกิจไม่ใช่ง่ายไม่เหมือนคนเก่าที่คุ้นเคยอยู่แล้ว”

เลขาธิการคปภ. กล่าวอีกว่า ยังพูดคุยกับผู้บริหารของเบิร์กเชียร์เกี่ยวกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะมีขึ้นในปี 2558 จะมีการเปิดเสรีการค้าใน 11 ประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะกับไทยที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงมากในธุรกิจประกันวินาศภัยในอาเซียน เป็นรองแค่เพียงสิงคโปร์ประเทศเดียวเท่านั้น เนื่องจากไทยมีฐานทางธุรกิจและมีภูมิศาสตร์ทำเลที่ตั้งดี สามารถขยายธุรกิจได้ครอบคลุมทั้งภูมิภาค และไทยน่าจะเป็นผู้นำด้านธุรกิจประกันภัยของอาเซียนได้ไม่ยาก

“อนาคตของธุรกิจประกันภัยไม่ควรมองไทยที่เดียว แต่ควรมองทั้ง AEC ไทยจะเป็นฐานการพัฒนาที่ดี ในการขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้ การเข้ามาของเบิร์กเชียเป็นระยะยาวมากกว่า ช่วยยกมาตรฐานความเป็นหนึ่งของธุรกิจประกันภัยในไทยส่งผลดีต่อประชาชน”

เบิร์กเชียร์อยากได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ตอนนี้ประเทศไทยมี 66 บริษัท มีบริษัทที่ควบรวมกิจการกันแล้วต้องคืนใบอนุญาตให้กับคปภ. การคืนแสดงว่าใบอนุญาตไม่มีมูลค่า จำนวนบริษัทมากเกินไป การได้เบิร์กเชียเข้ามาเป็นพันธมิตรจะทำให้บริษัทนั้นๆ เข้มแข็งมากขึ้น คุณภาพบริการดีขึ้นดีกับผู้บริโภคคนไทย หลังเกิดน้ำท่วมทำให้ธุรกิจประกันภัยได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก หากเบิร์กเชียร์หรือกลุ่มุรกิจประกันภัยต่างชาติรายอื่นๆ สนใจจะเข้ามาทำธุรกิจในไทยในช่วงนี้น่าจะง่ายกว่าในอดีต เพราะ คปภ.อนุญาตให้การถือหุ้นของต่างชาติทำได้ง่ายขึ้น ขณะที่หลายบริษัทต้องการเงินทุนสนับสนุน ทางคปภ.เองพร้อมจะเปิดโอกาสให้เข้ามา โดยจะคัดกรองกลุ่มทุนเน้นบริษัทใหญ่มีฐานะการเงินเข้มแข็ง

เลขาธิการคปภ.กล่าวว่า บอร์ดคปภ.เห็นชอบในหลักเกณฑ์ การพิจารณาเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติของบริษัทประกันภัยเกินกว่า 25% แต่ไม่เกิน 49% รวมถึงการกำหนดคุณสมบัติของผู้ถือหุ้นต่างชาติและผู้มีอำนาจในการจัดการ เพื่อให้คปภ. ใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติ ถือหุ้นในบริษัทประกันภัยไทยได้เพิ่มขึ้น โดยผู้ถือหุ้นต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน จะต้องเป็นบริษัทประกันภัย หรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจประกันภัย หรือธุรกิจการเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย มีฐานะการเงินมั่นคงมีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะด้านการพิจารณารับประกันภัย รวมถึงมีแผนการดำเนินธุรกิจเตรียมความพร้อมรองรับ AEC

ด้านประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด(มหาชน) หรือ “ไทยรี” ให้ความเห็นว่า เบิร์กเชียร์เป็นนักลงทุน ไม่ใช่รีอินชัวเรอส์เหมือนบริษัท สวิส รี หรือบริษัท มิวนิค รี ที่มีอาชีพเป็นรีอินชัวเรอส์ เบิร์กเชียร์อาศัยกลไกประกันภัยต่อเข้ามาหาเงิน เอาเบี้ยประกันภัยไปลงทุนด้านอื่น เพื่อหาผลตอบแทนเพิ่ม การเข้ามาของเบิร์กเชียร์ส่งผลดีต่อธุรกิจประกันวินาศภัยชั่วคราว เพราะหลังเกิดน้ำท่วม กำลังในการรับประกันภัยความเสี่ยงจากน้ำไม่มี ซึ่งเบิร์กเชียร์มองเห็นช่องว่างตรงนี้ เสนอวงเงินนรับความเสี่ยงภัยธรรมชาติให้กับบริษัทประกันภัยโดยคิดค่าเบี้ยสูงมาก บางบริษัท 8-10% บางบริษัทถึง 15% เคยเสนอกับไทยรีแต่ไทยรีไม่เอา

“การรับประกันภัยต่อในบ้านเราเขาไม่มี cost จะมีก็ต่อเมื่อเกิดความเสียหาย ในแง่นักลงทุน เขามองหากเขาอยากได้เงินหมื่นล้านทำอย่างไร จะได้เงินไปด้วยต้นทุนที่ถูกสุด ก็เข้ามารับประกันภัยต่อ ถ้าLoss ไม่เกินหมื่นล้าน หากไปซื้อกิจการเขาก็ได้เต็มๆ เหมือนยืมเงินไปใช้ก่อน เขามองเพราะเห็นโอกาส เข้ามาถูกจังหวะ ให้สิ่งที่ตลาดต้องการ เป็นประโยชน์กับบริษัทประกันภัยในยุคที่ขาดแคลนกำลังในการรับประกันภัยไป โทษเขาไม่ได้เขาเป็นนักลงทุน ต้องหาเงินทุนต้นทุนต่ำสุด ที่ไหนลงทุนได้ ต้นทุนต่ำ มีกำไรเขาก็ไปที่นั่น เมื่อไหร่ต้นทุนสูง เขาก็ออก การรับประกันภัยต่อบ้านเรา เขาเซ็ตเงื่อนไขมีกำไร 20%”

สอดคล้องกับมุมมองของประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันภัยว่า กลุ่มเบิร์กเชียร์ที่เข้ามารับประกันภัยต่อในไทยนั้น เป็นการเข้ามาในจังหวะที่ตลาดต้องการความสามารถในการรับประกันภัยต่อ ทำให้มีความสามารถที่จะขายในราคาที่กำหนดเองได้ แต่ถ้าหลังจากนี้ผ่านไป 2-3 ปี แล้วไม่ได้เกิดเหตุภัยพิบัติรุนแรง ตลาดกลับมาเบี้ยลดลงต่อเนื่อง ไปอยู่ในระดับที่เห็นว่าไม่มีกำไร หรือว่าไม่คุ้มอาจจะไม่รับประกันภัยต่อก็ได้เช่นกัน

ด้านบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งให้ความเห็นว่า การที่กลุ่มเบิร์กเชียร์เข้ามารุกหนักในธุรกิจประกันภัยต่อในช่วง 2-3 เดือน สามารถขึ้นเป็นผู้นำในตลาดนี้ของไทย ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20-30% ถือว่ามีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะกลุ่มเบิร์กเชียร์เข้ามาในช่วงที่ราคาเบี้ยขึ้นสูงมาก แต่ถ้าหลังจากนี้ไม่มีภัยขนาดใหญ่เกิดขึ้น การแข่งขันเริ่มกลับมาและกดค่าเบี้ยให้ต่ำลง หากถึงระดับที่กลุ่มเบิร์กเชียร์ มองว่ารับงานต่อไปแล้วไม่มีกำไร อาจจะถอนตัวออกไปก็เป็นได้ ซึ่งจะทำให้ตลาดรีอินชัวรันซ์ของไทยเกิดรูโหว่ขนาดใหญ่ได้เช่นกัน

ที่มา : สยามธุรกิจ