ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ครม.ไฟเขียวกฎหมายควบรวมประกันภัย ให้ภาษีจูงใจตามคปภ.ชง

ภาครัฐปลดล็อก แนวโน้มคงจะมีการควบรวมบ.ประกันภัยมากขึ้น ครอบคลุมหมดทั้งการโอนกิจการ การซื้อกิจการ (เทกโอเวอร์)

ครม.ไฟเขียวกฎหมายควบรวมประกันภัย ให้ภาษีจูงใจตามคปภ.ชง

มกราคม
28

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 18 มกราคม 2555 เวลา 00:00 น.

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 4 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมการควบรวมกิจการในตลาดทุน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสาระสำคัญของร่างดังกล่าว เปิดโอกาสให้บริษัทที่ต้องการควบรวมกิจการกัน ทั้งบริษัทจำกัด และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมทั้งบริษัทประกันวินาศภัยตามกฎหมาย ว่าด้วยประกันวินาศภัยที่ประสงค์จะควบรวมกิจการกัน หรือบริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต ที่ประสงค์จะควบรวมกิจการกันสามารถควบรวมกันได้

“การส่งเสริมบริษัทประกันภัยควบรวมกิจการกัน เป็นนโยบายของคปภ. เพื่อส่งเสริมฐานะการเงินแข็งแกร่ง การควบรวมกิจการเป็นวิธีการที่ง่าย แต่ที่ผ่านมาติดอุปสรรคในเรื่องภาษี บริษัทประกันภัยจึงหันไปใช้วิธีอื่น การที่ภาครัฐปลดล็อกช่วยได้ระดับหนึ่ง แนวโน้มจากนี้คงจะมีการควบรวมมากขึ้น ซึ่งขั้นต่อจากนี้หลังจากผ่านครม.แล้ว จะไปที่กฤษฎีกาตรวจดูถ้อยคำ หลังจากนั้นจะกลับมาที่ครม.อีกครั้ง เพื่อเสนอเข้าสภาต่อไป ซึ่งการควบรวมตาม พ.ร.บ.ข้างต้น ครอบคลุมหมดทั้งการโอนกิจการ การซื้อกิจการ (เทกโอเวอร์)”

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ความเห็นพร้อมกับระบุว่า ในเรื่องภาษีส่งเสริมการควบรวมกิจการบริษัทประกันภัยที่ทางคปภ. เคยขอเข้าไปที่กรมสรรพากรมี 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องเงินสำรองกรณี บริษัทประกันภัยควบรวมกิจการกันเกิดเป็นบริษัทใหม่ ขอให้เงินสำรองจากการควบรวมกิจการ เป็นเหมือนการประกอบธุรกิจต่อเนื่อง เงินสำรองไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้ทันที หลังเลิกกิจการให้คำนวณเงินสำรองตามระบบภาษีปกติ

“กรณีนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด และบริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ควบรวมกิจการกันในอดีต ซึ่งหลังควบรวมกิจการแล้วใช้ชื่อเดิม ตอนนั้น 2 บริษัทนี้เจอปัญหาเงินสำรองถูกตีกลับเป็นรายได้ทันทีที่เลิกกิจการ ทำให้บริษัทใหม่แทนที่จะมีกำไรอาจจะขาดทุนหรือกำไรน้อยลง เพราะเงินสำรองเพิ่มขึ้น ทำให้ฝั่งรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเมื่อนำไปหักรายจ่าย ทำให้ส่วนที่เหลือที่จะนำไปคำนวณเป็นฐานในการเสียภาษีเพิ่มขึ้น”

อีกเรื่องคือ เงินสำรองเบี้ยประกันภัย หากเป็นประกันวินาศภัยเดิม กรมสรรพากรให้นำมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณการเสียภาษีได้ 40% ของเงินสำรอง ขณะที่ประกันชีวิตให้ 65% ของเงินสำรอง คปภ. ขอให้หักเป็นรายจ่ายได้เต็มจำนวน ตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย

ส่วนอีกตัวเป็นการขอให้กับธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเฉพาะ คือ เงินสำรองค่าสินไหมทดแทน ขอเป็นรายจ่ายเต็มจำนวน ตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยเช่นกัน จากเดิมกรมสรรพากรบอก จะถือเป็นรายจ่ายได้ต่อเมื่อ ต้องรู้ยอดค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงแล้ว มีการจ่ายจริงๆ เท่านั้น แต่ตามหลักการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยในปัจจุบัน การตั้งสำรองสินไหมทดแทน ใช้หลักคณิตศาสตร์ประกันภัยมาคำนวณหมด จะมีรายการสินไหมทดแทนที่เกิดแล้วแต่ยังไม่รายงาน ซึ่งบริษัทประกันภัยต้องมีการตั้งสำรองล่วงหน้า ประมาณการความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เพื่อความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ

“ข้อแรกที่ขอ หากกรมสรรพากรยอมให้ ไม่ได้เสียอะไรยังได้ภาษีปกติ แต่หากไม่ยกเว้นให้ตามที่ขอ เขาจะได้ภาษีเร็วขึ้นก็จริง แต่บริษัทประกันภัยใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการ อาจจะขาดทุนหรือมีกำไรน้อยลง”

การควบรวมกิจการ เสียเปรียบการโอนกิจการ ตรงที่เงินสำรองของทั้ง 2 บริษัทที่ควบรวมกัน ถูกนำมาตีกลับเป็นรายได้ทันที ขณะที่การโอนกิจการบริษัทขนาดเล็ก โอนให้กับบริษัทขนาดใหญ่ เมื่อบริษัทเล็กเลิกกิจการเงินสำรอง จะคิดแค่บริษัทที่เลิกกิจการไม่ได้ คิดบริษัทที่รับโอนกิจการ ที่ผ่านมาบริษัทประกันวินาศภัยส่วนใหญ่ใช้วิธีโอนกิจการ อาทิ กรณีบริษัท นวกิจประกันภัย จำกัดมหาชน กับบริษัท ประกันภัยสากล จำกัดและบริษัท ไทยสมุทรประกันภัย จำกัด, บริษัท ศรีอยุธยาประกันภัย จำกัดและบริษัท บีทีประกันภัย จำกัด รวมถึงกรณีล่าสุดที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไอเอจี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด

ด้านภาคธุรกิจนายกสมาคมประกันวินาศภัย ให้ความเห็นก่อนหน้านี้ว่า แนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยในปีนี้ คือจะมีการควบรวมกิจการกันมากขึ้น เป็นเพราะเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital : RBC) ที่เข้มข้นขึ้น อีกส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันบีบให้ต้องควบรวมกัน ขณะที่บริษัทประกันภัยจากต่างประเทศ มีความอยากที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอยู่ตลอด เพราะรายได้ประชาชาติเติบโตขึ้นต่อเนื่อง แต่เบี้ยประกันภัยเทียบจีดีพียังต่ำมาก โอกาสขยายตัวได้อีกมาก อีกทั้งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน จะเดินทางไปประเทศไหนต้องผ่านไทย

“เชื่อว่าหากภาครัฐอนุมัตินโยบาย ด้านภาษีส่งเสริมการควบรวมกิจการในธุรกิจประกันภัย จะกระตุ้นธุรกิจควบรวมกันมากขึ้น โดยโมเดลการควบรวมกิจการที่จะเกิดขึ้นคือ 1+1=3”

ส่วนประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปีนี้จะเห็นการควบรวมกิจการของบริษัทประกันวินาศภัยมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท เพราะความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้บริษัทประกันภัยภายในประเทศ ถูกกระทบมากหากเงินกองทุนต่ำกว่า 100% หรือ 150%

ขณะที่ ฝั่งธุรกิจประกันชีวิต มีกรณีของบริษัท ประกันชีวิตนครหลวงไทย จำกัด และบริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด ซึ่งการควบรวมของแบงก์แม่แล้วเสร็จ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 แต่ทั้ง 2 บริษัทยังคงต่างคนต่างดำเนินธุรกิจ ไม่ควบรวมกิจการกัน โดยยอมรับว่าติดปัญหาภาษีควบรวมไม่จูงใจ ทั้งๆ ที่การควบรวมเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้ขนาดใหญ่ขึ้น ตัวเลขต่างๆ ดีขึ้น ต้นทุนต่ำกว่าเดิม สามารถขยายตลาดได้ดีขึ้น ดังนั้นหากภาษีควบรวมได้รับการปลดล็อกแล้ว 2 บริษัทนี้น่าจะเกิดการควบรวมกิจการกันในที่สุด

ที่มา : สยามธุรกิจ