ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

กลุ่มธุรกิจประกันภัย จี้รัฐบาลรับผิดชอบ คาดต้องจ่าย 3 แสน

ธุรกิจประกันภัยจ่ายสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ ภัยที่เกิดขึ้นรัฐบาลควรที่จะเข้ามาช่วย หรือมีส่วนในความรับผิดชอบ

กลุ่มธุรกิจประกันภัย จี้รัฐบาลรับผิดชอบ คาดต้องจ่าย 3 แสน

ธันวาคม
8

โดย อาร์วายทีไนน์ วันที่ 8 ธันวาคม 2554 เวลา 01:48 น.

น้ำท่วม ประกันภัย

ในการประชุมคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของบริษัทประกันภัย โดยเชิญรองเลขาธิการด้านกำกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและ ส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และเลขาสมาคมประกันวินาศภัย เข้าชี้แจง

โดย เลขาธิการด้านกำกับสำนักงานฯ กล่าวว่าจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมายอมรับว่าได้สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยล่าสุดมียอดผู้ที่เรียกร้องสินไหมแล้วจำนวนมาก แบ่งเป็น กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 926 ราย คิดเป็นเบี้ยที่ต้องจ่าย 4.5 แสนล้านบาท, กลุ่มโรงงานขนาดเล็ก หรือกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบ 2.7 แสนราย คิดเป็นเบี้ยที่ต้องจ่าย 3 แสนล้านบาท, รถยนต์ที่เสียหาย มีผู้แจ้งขอรับประกันภัยแล้ว 1 หมื่นราย รวมเป็นเงิน 1,300 ล้านบาท โดยขณะนี้จ่ายไปแล้วประมาณ1,000 ราย คิดเป็นเงิน 71 ล้านบาท, ความเสียหายต่อทรัพย์สิน มีผู้แจ้งเข้ามาแล้ว 1 หมื่นราย คิดเป็นเงิน 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจ่ายไปแล้ว 700 ราย รวมเป็นเงิน 53 ล้านบาท สำหรับความเสียหายในด้านชีวิต มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 94 ราย รวมเป็นเงิน 31 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้จ่ายเบี้ยประกันภัยไปทั้งหมดแล้วที่มีการเรียกร้อง

ด้านเลขาสมาคมประกันฯ กล่าวว่า ความเสียหายที่ในปี 2554 ภาพรวมคาดว่าจะมีความเสียหายคิดเป็นเงินที่บริษัทประกันภัย ต้องจ่ายให้ผู้ทำประกันภัยกว่า 3 แสนล้าน เบื้องต้นบริษัทประกันภัย 90 เปอร์เซ็นต์จะจ่ายให้อย่างแน่นอน ซึ่งในส่วนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ คาดว่ามีมากถึง 4 หมื่นคัน ค่าเสียหายรวมกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท, บ้านพักอาศัย คาดจะเสียหายมากกว่า 3 หมื่นหลัง รวมค่าเสียหายประมาณ 3-4หมื่นล้านบาท, โรงงานอุตสาหกรรม ยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ เนื่องจากหลายแห่งน้ำยังไม่ลด จึงยังไม่สามารถส่งทีมเข้าไปประเมินได้ ดังนั้นจากทุนประกันรวมทั้งหมด 7 แสนล้าน ประเมินอย่างคร่าวว่า หากได้รับความเสียหาย 30 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับจำนวนเงิน 2.1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าตัวเลขดังกล่าวจะเอาไม่อยู่ เพราะจากน้ำท่วมขังนาน ทั้งนี้ตัวเลขอาจพุ่งสูงขึ้นอีก

“ผมยืนยันว่าจำนวนเงิน 3 แสนล้านบาท วันนี้ธุรกิจประกันภัยรายใหญ่มีจ่าย เนื่องจากระบบประกันภัยปัจจุบันมีเครือข่ายเชื่อมโยงไปทั่วโลก ส่วนใหญ่งานจะส่งประกันภัยต่อไปที่ต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตรีย ยุโรป เพราะใช้หลักกระจายการเสี่ยงภัย เบื้องต้นคาดว่ารถยนต์ ที่ประกันภัยรถยนต์ชั้น1 ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองจากอุทกภัยน้ำท่วม ที่ประเมินเบื้องต้นว่าจะมี 4.1หมื่นล้านคันที่อยู่ในกรอบของประกันภัยรถยนต์ชั้น1 , บ้านพักอาศัย ธุรกิจประกันภัยจะชดใช้ทุนประกันภัยให้ผู้เอาประกันภัยได้ภายใน 6 เดือน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมดังกล่าว กรรมาธิการฯ ได้ซักถามในประเด็นของการรับทำประกันภัยต่อของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม, การขึ้นเบี้ยประกันภัยในปี 2555 รวมถึงการปรับปรุงรูปแบบทำประกันภัย โดยพิจารณาของพื้นที่ที่เสี่ยงน้ำท่วมเป็นหลัก ซึ่งเลขาสมาคมประกันฯ ชี้แจงว่า ต้องยอมรับว่าบริษัทประกันภัยขณะนี้ ไม่มีความมั่นใจว่าเหตุการณ์น้ำท่วมจะไม่เกิดขึ้นอีก เช่น นิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่ถูกน้ำท่วม ทางธุรกิจประกันภัยส่ายหน้าที่จะให้เข้าระบบประกันภัยต่อ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมาก สำหรับเบี้ยประกันภัยนั้นความเห็นส่วนตัวว่าต้องเพิ่มเบี้ยประกันภัยแน่นอน เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมขณะนี้นับหลายพันล้านบาท

“เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับธุรกิจประกันภัย ทางรัฐบาลต้องทำให้เกิดความมั่นใจ ด้วยการกำหนดนโยบายป้องกันน้ำท่วม รวมถึงกลุ่มโรงงานต้องมีแนวทาป้องกันน้ำท่วมที่ชัดเจน ความเสียหายที่เกิดขึ้นประเมินคร่าวๆ ไว้ 3 แสนล้านบาท แน่นอนว่าธุรกิจประกันภัยต้องเป็นผู้จ่ายเป็นสัดส่วนมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ภัยที่เกิดขึ้นนั้นรัฐบาลควรที่จะเข้ามาช่วย หรือมีส่วนในความรับผิดชอบด้วย”

เช่น เดียวกับเลขาธิการด้านกำกับสำนักงานฯ ที่มีความเห็นว่าอยากให้รัฐบาลเข้ามีส่วนรับผิดชอบ ในรูปแบบของการตั้งกองทุนประกันภัย ที่มีรัฐบาลมีส่วนสนับสนุน ร่วมกับบริษัทประกันภัยเหมือนอย่างในต่างประเทศ ซึ่งตนมองว่าหากรัฐบาลเข้ามาการันตี กลุ่มธุรกิจประกันภัยจะถือว่าเป็นความได้เปรียบการต่อรอง ในด้านเบี้ยประกันภัยกับต่างประเทศที่รับช่วงประกันภัยต่อ สำหรับการปรับปรุงรูปแบบทำประกันภัยตามพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ยอมรับว่าเคยมีแนวคิดแต่ติดปัญหาคือ ไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ ทั้งนี้ตนสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุง หรือจัดโซนประกันภัยให้เหมาะสมกับพื้นที่

ที่มา : อาร์วายทีไนน์