ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัยจ่ายแน่น้ำท่วม หมดสิทธิ์เลี่ยงบาลี

ถ้าซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติไว้หรือไม่ได้มีข้อยกเว้นภัยธรรมชาติ ต้องไปดูเงื่อนไขวงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติสูงสุดเท่าไหร่

ประกันภัยจ่ายแน่น้ำท่วม หมดสิทธิ์เลี่ยงบาลี

พฤศจิกายน
8

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 29 ตุลาคม 2554 เวลา 00:00 น.

เวลาที่ธุรกิจประกันภัยจะต้องจ่ายสินไหมทดแทนก้อนใหญ่จากภัยพิบัติใหญ่ๆ อาทิ สึนามิถล่มภาคใต้ของไทยเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2547 จนมาถึงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง จนนำไปสู่การเผาบ้านเผาเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งมักจะมีข้อถกเถียงหรือข้อพิพาทระหว่าง บริษัทประกันภัยและผู้เอาประกันภัย เกี่ยวกับการตีความเงื่อนไขความคุ้มครอง ในกรมธรรม์ที่มีการทำประกันภัยไว้คุ้มครองหรือไม่ อย่างเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งตอนแรกรัฐบาลตีความเป็นก่อการร้าย ทำให้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยหรือประกันทรัพย์สิน ที่ไม่ได้ซื้อภัยก่อการร้ายเพิ่มเติมไว้ ไม่ได้รับความคุ้มครองเกิดข้อครหา ประกันภัยเบี้ยวจ่ายสินไหมลูกค้าอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังคาราคาซังอยู่ต้องพึ่งอำนาจศาลตัดสิน

แต่สำหรับกรณีน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ บริษัทประกันภัยยืนยันจ่ายสินไหมทดแทน ให้กับผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหาย สำหรับทุกกรมธรรม์ที่ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมไว้ โดยไม่ต้องมาเสียเวลาตีความ โดยผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะกรรมการกฎหมายและกฎระเบียบ สมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า กรมธรรม์ที่จะได้รับความคุ้มครองความเสียหายจากภัยน้ำท่วมครั้งนี้มีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่
1. กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์สมัครใจประเภท 1 คุ้มครองทุกภัยรวมภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ซึ่งเป็นประกันรถยนต์ประเภทเดียวที่คุ้มครองภัยน้ำท่วม
2. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัยขยายความคุ้มครองภัยน้ำท่วม
3. กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด (All Risks) หากในกรมธรรม์ไม่ได้มีข้อยกเว้นภัยน้ำท่วมไว้ถือว่าคุ้มครองและ
4. กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risk : IAR) เป็นประกันภัยลูกค้ารายใหญ่ ทุนประกันภัยสูง อาทิ ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น

“ทุกกรมธรรม์ที่บอก ถ้าซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติไว้ หรือไม่ได้มีข้อยกเว้นภัยธรรมชาติคุ้มครองอยู่แล้ว ไม่ต้องมาตีความเหมือนตอนสึนามิ หรือเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อเดือนพฤษภาคม แต่ต้องไปดูเงื่อนไขในกรมธรรม์ กำหนดวงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติสูงสุดเท่าไหร่ อย่างอัคคีภัยขยายความคุ้มครองภัยธรรมชาติทุนอัคคีภัย 10 ล้านบาท คุ้มครองภัยธรรมชาติเท่าไหร่อาจจะ 1 ล้านบาท หรือใน IAR อาจจะมีข้อกำหนดจ่ายภัยธรรมชาติ 10% ของทุนประกัน เป็นต้น”

ส่วนบริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าเสียหายเท่าไหร่ ตามหลักการจะประเมินจาก 1.ความเสียหายจริงเท่าไหร่ หลังจากน้ำลดลูกค้าต้องแจ้งความเสียหายไปยังบริษัทประกันภัย ขอให้บริษัทมาสำรวจความเสียหายทรัพย์สิน ประเมินราคาทรัพย์สินตามหลักการจะประเมินมูลค่าความเสียหาย ณ วัน เวลา สถานที่เกิดวินาศภัย มูลค่าความเสียหายเท่าไหร่ สามารถชดใช้ได้ไม่เกินวง เงินสูงสุดที่รับผิดไว้ เช่น โรงงานทำประกันภัยน้ำท่วม จะมีการจำกัดวงเงินความรับผิดสูงสุดต่อภัย (Sub Limit) สมมติ 10 ล้านบาท หากเสียหาย 11 ล้านบาทบริษัทประกันภัยจ่ายให้ 10 ล้านบาท อีก 1 ล้านบาท ผู้เอาประกันรับผิดชอบเอง

ส่วนประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption : BI) จะมีการประเมินความเสียหายหลังน้ำลด กระบวนการเยียวยาสูญเสียรายได้ระหว่างที่ปิดกิจการไป ซึ่งการประเมินค่าสินไหมทดแทน BI หยาบๆ ประเมินจากยอดขายหักด้วยต้นทุนเท่ากับกำไรเบื้องต้น จะนำมาคำนวณกำไรแต่ละเดือนเท่าไหร่ โดยบริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้ไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์

สอดคล้องกับความเห็นของกรรมการผู้อำนวย การ บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะกรรมการ ประกันภัยทางทะเลและลอจิสติกส์ สมาคมประกันวินาศภัยที่ว่า ลูกค้าที่ทำประกันภัยที่มีความคุ้มครองภัยน้ำท่วมอยู่ และได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม บริษัทประกันภัยทุกบริษัทจ่ายอยู่แล้ว ไม่ต้องมาตีความหรือเลี่ยงบาลีไม่จ่าย เพราะเงื่อนไขชัดเจนเป็นภัยน้ำท่วมแม้กระทั่งรีอินชัวเรอส์ต้องจ่ายเช่นกัน ซึ่งวิกฤติที่เกิดขึ้นมองว่าทั้งอุตสาหกรรม ควรจะใช้เป็นโอกาสที่บริษัทประกันภัยจะชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าและประชาชนมั่นใจในระบบประกันภัยมากขึ้น สร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ

ที่มา : สยามธุรกิจ