ทูเดย์อินชัวร์ จำหน่าย ประกันภัยรถยนต์ ราคาถูก
สำหรับสมาชิก todayinsure.com ระบบงาน TodayInsure C.R.M. หมายเลขใบอนุญาตของ TodayInsure: 5104006215
ขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัตหน้าที่อยู่ โทรหาเรา (02) 952-7322, (086)378-9671 หรือ email: sales@todayinsure.com

คลังข้อมูลข่าวย้อนหลัง

ประกันภัย ภาษีควบรวมสะดุด คลังถอดไม่มีประโยชน์

การส่งเสริมประกันภัยควบรวมกิจการ เพื่อให้มีฐานะการเงินแข็งแกร่งมากขึ้น สะดุดจากสถาบันการเงินควบรวมกันไปเกือบหมดแล้ว

ประกันภัย ภาษีควบรวมสะดุด คลังถอดไม่มีประโยชน์

กรกฎาคม
31

โดย สยามธุรกิจ วันที่ 23 กรกฎาคม 2554 เวลา 00:00 น.

ตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 2 ปี 2553-2557 หนึ่งในแผนการดำเนินการหลัก ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คือ การส่งเสริมบริษัทประกันภัยควบรวมกิจการกัน เพื่อให้มีฐานะการเงินแข็งแกร่งมากขึ้น เพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันในระยะยาว รับมือการเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยในอนาคตอันใกล้ ซึ่งมาตรการส่งเสริมบริษัทประกันภัยควบรวมกิจการ ที่ทางคปภ.พยายามผลักดันมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมคือ “ภาษีควบรวมกิจการ” ที่เป็นอุปสรรคอยู่เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปลดล็อก หลักเกณฑ์ เพื่อขอยกเว้นภาษีต่างๆ จูงใจบริษัทประกันภัยควบรวมกิจการกันมากขึ้น

ในเรื่องภาษีควบรวมกิจการประกันภัยเมื่อปลายปี 2552 มีสัญญาณบวกไปขั้นหนึ่งในช่วงที่อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาตลาดทุน ได้เชิญหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมนายธนาคารไทยและ คปภ. มาหารือเกี่ยวกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทยปี 2553-2557 ที่จัดทำกันอยู่ ที่มีหัวข้อส่งเสริมธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ควบรวมกิจการกัน บรรจุอยู่ในแผนด้วยคณะอนุกรรมการชุดนี้ รับหลักการที่จะแก้ไขปัญหาภาษีทั้งหมดที่เป็นอุปสรรค

แต่ล่าสุดภาษีควบรวมกิจการสถาบันการเงินสะดุดอีกครั้ง ทางกรมสรรพากรซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง ได้นำข้อเสนอภาษีควบรวมกิจการสถาบันการเงิน เสนอต่อผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงการคลังแต่ถูกตีกลับมาทั้งหมด สาเหตุมาจากมองกันว่า ธนาคารซึ่งเป็นสถาบันการเงินหลักที่รัฐบาลจะส่งเสริมให้ควบรวมกิจการกัน มีการควบรวมกันไปเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงธนาคารเดียวที่ยังไม่ควบรวมกิจการ หากมีการผ่านภาษีควบรวมกิจการ ซึ่งจะมีการยกเว้นภาษีในการควบรวม ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกับธนาคารที่ควบรวมกิจการไปแล้วที่เสียภาษีตามหลักเกณฑ์เดิม

สำหรับภาษีควบรวมกิจการบริษัทประกันภัย ที่คปภ.นำเสนอต่อกรมสรรพากรไว้ตั้งแต่แรก คือ ขอยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นได้รับภายหลังจากการควบรวมกิจการ หรือโอนกิจการและขอยกเว้นภาษี ให้สามารถนำผลขาดทุนสุทธิของบริษัทเดิม มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อคำนวณภาษีเงินได้สำหรับกรณีการควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน ของบริษัทประกันภัยจากเดิมกรมสรรพากรไม่อนุญาตให้นำ ผลขาดทุนสุทธิของบริษัทเดิมมาคำนวณภาษีเงินได้

ขอยกเว้นภาษีในส่วนของการนำเงินสำรองมาคำนวณภาษี ที่ต้องจ่ายล่วงหน้าทันทีที่เลิกกิจการ เนื่องจากการควบบริษัทแล้วเกิดบริษัทใหม่ บริษัทใหม่ต้องรับมอบทรัพย์สินและหนี้สินภายในเจ็ดวัน นับแต่วันประชุมผู้ถือหุ้นทำให้บริษัทเดิมที่ควบรวมกันต้องนำเงินสำรองประกันภัย มาคำนวณเพื่อเสียภาษีควบรวมกิจการ ทำให้บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวม ต้องสูญเสียสภาพคล่อง ส่งผลต่อเงินทุนหมุนเวียน ทรัพย์สินลงทุน การจ่ายสินไหมทดแทนและการจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้เอาประกัน ภัยเพราะต้องเสียภาษีกรณีบริษัทหนึ่งปิดกิจการในสัดส่วนที่สูงมาก

มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าหากบริษัทประกันภัยไม่สามารถเพิ่มทุน เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งรองรับ RBC ได้ ทางหนึ่งคือการควบรวมกิจการ แต่ยังมีปัญหาเรื่องของภาษีควบรวมกิจการที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้ว่าเกณฑ์ RBC จะเริ่มใช้จริงในเดือนกันยายนนี้แล้ว “จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึงปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เกณฑ์ RBC เลย เช่น เรื่องของภาษีควบรวม ทั้งๆ ที่เป็นแนวทางหนึ่งที่ทางคปภ.ส่งเสริมให้บริษัทประกันแข็งแกร่งขึ้น ทำให้เรื่องการควบรวมชะลอออกไป หลายบริษัทไม่กล้าที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะเกรงภาระด้านภาษีจะส่งผลต่อฐานะการเงินของบริษัทใหม่”

ที่มา : สยามธุรกิจ